แบงก์ใหญ่โหม “ฟรีค่าธรรมเนียม” ล่อลูกค้าเข้าพอร์ต จับตาแพลตฟอร์มใหม่ทางการเงินที่อาจแพงกว่าเดิม

4027

จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในปี 2560 ที่ผ่านมา ระบุว่า รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการของธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ประมาณ 196,000 ล้านบาท จากธนาคาร 30 แห่ง โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยค่าธรรมเนียมที่ว่านี้ทาง ธปท. ได้กำหนดไว้ประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมการรับรอง รับอาวัล และค้ำประกัน, บัตรเครดิต, บริการบัตร ATM บัตรเดบิต และบริการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ, บริการโอนเงินและเรียกเก็บเงิน, บริการที่ปรึกษา, ค่าธรรมเนียมจัดการ, การจัดการออก การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และการค้าตราสารแห่งหนี้, การดูแลและเก็บรักษาหลักทรัพย์ของลูกค้า, ค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับเช็ค, ค่าธรรมเนียมการออกเล็ตเตอร์ออฟเครคิต, ค่านายหน้า และค่าธรรมเนียมและบริการอื่น ๆ

แต่เมื่อธนาคารต่างๆ มีบริการ พร้อมเพย์ (PromptPay) เกิดขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา และประชาชนเริ่มใช้บริการ ทำให้ธนาคาพาณิชยน์ต่างๆ เริ่มมองเห็นสัญญาณว่ารายได้จากค่าธรรมเนียมต่างๆ เหล่านี้กำลังจะลดลง

จากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ธนาคารขนาดใหญ่หลายแห่งหันมาเขย่าแพล็ตฟอร์มทางด้านการเงินกันใหม่ พร้อมสร้างเซอร์ไพรส์ให้กับตลาดด้วยการประกาศลดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมต่างๆ สำหรับผู้ใช้แอพพิเคชั่นของธนาคาร ทั้งการทำธุรกรรมโอนเงิน จ่ายเงิน เติมเงิน กดเงิน ฯลฯ

พัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย 

4 แบงค์ใหญ่ประกาศ “ฟรีค่าธรรมเนียม”

โดย “ธนาคารกสิกรไทย” ถือเป็นรายแรกที่ออกมาประกาศ “ฟรีค่าธรรมเนียม” ให้ลูกค้ารายย่อยและลูกค้าผู้ประกอบการที่ใช้บริการช่องทางดิจิทัล 4 ช่องทาง ได้แก่ K PLUS, K PLUS SME, K-Cyber, K-Cyber SME ฟรีค่าธรรมเนียมบริการยอดนิยมที่ลูกค้าใช้บริการมากที่สุด ได้แก่ โอนข้ามเขต โอนต่างธนาคารแบบทันที จ่ายบิลค่าสินค้าและบริการ เติมเงิน

โดยระบุว่า เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำทางด้านโมบายแบงกิ้งและอินเตอร์เน็ต แบงกิ้ง และลดการใช้เงินสด โดยประกาศดังกล่าวมีผลตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมาไปจนถึงสิ้นปีนี้

 “พัชร สมะลาภา” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย ที่กล่าวว่า แนวทางดังกล่าวนี้จะกระตุ้นให้มีปริมาณการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น ส่งผลให้ธนาคารมีต้นทุนการบริหารจัดการเงินสดที่ลดลงในระยะยาว ช่วยลดต้นทุนให้ระบบเศรษฐกิจ ทั้งระดับส่วนรวม ร้านค้า และลูกค้าที่ใช้บริการ

จากนั้นอีก ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นเจ้าแรกๆ ที่นำร่องลดค่าธรรมเนียมใหักับลูกค้า  “SCB EASY” ก็ออกมาประกาศเปิดตัวแคมเปญใหม่ “SCB EASY Freenomenon” ยกเลิกค่าธรรมเนียม 5 ประเภทยอดฮิต ได้แก่ โอนข้ามเขต โอนต่างธนาคาร เติมเงิน ต่างๆ จ่ายบิล และกดเงิน โดยไม่ใช้บัตรข้ามเขต ผ่านแอปพลิเคชัน “SCB EASY” โอน จ่าย เติม กด ฟรีหมด พร้อมระบุว่ามาตรการนี้ได้ดำเนินกามาตั้งแต่ 26 มีนาคมที่ผ่านมาแล้วเช่นกัน

ธนา โพธิกาจร” ผู้อานวยการอาวุโส ผู้บริหารสาย Digital Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ บอกว่า วันนี้การแข่งขันของธนาคารไม่ใช่แข่งกับแบงก์กันเอง แต่ธนาคารต้องการแข่งกับแพลตฟอร์มต่างๆ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มต่างประเทศที่เกิดกันมากมาย ทำให้ธนาคารทำการยกเลิกค่าธรรมการทำธุรกรรมไปเลย เพื่อให้เกิดแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่ทำให้ธนาคารสามารถต่อยอดไปสู่ธุรกรรมอีกมากมาย

อาทิ การเข้าไปปล่อยกู้ผ่านระบบดิจิทัล หรือที่เห็นล่าสุด ไม่ใช่เพียงยอดดาวน์โหลด SCB EASY ที่เพิ่มขึ้น แต่ยอดเงินฝากของธนาคารยังเพิ่มขึ้นด้วย และในอนาคตก็จะเห็นไทยพาณิชย์สร้างฟีเจอร์ใหม่ๆ บนแอปพลิเคชั่น SCB EASYอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงแค่บริการ SCB EASY E-Marketplace , SCB EASY Gifts, SCB EASY Movies เท่านั้น

หลังจากนั้น ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB ก็เป็นอีกแบงก์ที่ประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียม โดยจะไม่คิดค่าธรรมเนียมการโอนเงินข้ามเขต หรือโอนต่างธนาคารแบบทันที จ่ายบิลค่าสินค้าและบริการ บริการเติมเงิน ผ่าน KTB netbank ตั้งแต่วันที่ ‪29 มีนาคมนี้เป็นต้นไปจนถึงสิ้นปีนี้เช่นกัน

“ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวต่อว่า ธนาคารกรุงไทยยึดมั่นในบทบาทธนาคารพาณิชย์ของรัฐที่ต้องการสนับสนุนและส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนในทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงและใช้บริการทางการเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยต้นทุนที่ต่ำอย่างทั่วถึงเท่าเทียมกัน ซึ่งธนาคารได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง  การยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมในครั้งนี้ เป็นเพียงหนึ่งในมาตรการของธนาคารเท่านั้น

กระทั่งล่าสุด ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL ทนต้านกระแสไม่ไหวก็ได้ประกาศเมื่อเย็นของวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมาว่า ธนาคารจะให้บริการฟรีค่ารรมเนียมการทำธุรกิจดิจิทัล ทั้งผ่านเว็บไซต์ Bualuang iBanking และแอพมือถือ Bualung mBanking

โดยบริการที่มีผลค่าธรรมเนียมฟรีได้แก่ โอนข้ามเขต โอนเงินต่างธนาคารแบบทันที โอนเงินพร้อมเพย์ การชำระบิลค่าสินค้าและบริการ และบริการเติมเงิน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้เป็นต้นไป

นอกจากนี้ยังยกเว้นค่าธรรมเนียมเอทีเอ็มสำหรับลูกค้าผู้ถือบัตรธนาคารกรุงเทพที่ทำธุรกิจโอนถอนเงินข้ามเขตจากบัญชีธนาคาร และการโอนเงินไปบัญชีต่างะนาคารทางบัวหลวงเอทีเอ็ม ระหว่างวันที่ 1-30 เมษายนนี้ด้วย

จับตาแพลตฟอร์มทางการเงินรูปแบบใหม่

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ธนาคารทหารไทย หรือ TMB ถือเป็นธนาคารแห่งแรกที่ประกาศนโยบาย “ฟรีค่าธรรมเนียม” ออกมาอย่างชัดเจน ด้วยการทำบัญชี TMB All Free ใช้ ATM กดเงิน โอนต่างธนาคาร และจ่ายบิล ฟรีค่าธรรมเนียมไม่จำกัดจำนวนครั้ง ทุกตู้ ATM ของทุกธนาคารทั่วประเทศ โดยเป็นบริการผ่านทั้ง ATM และช่องทางดิจิทัล

รวมถึง ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ BAY ที่ออกบัญชี “ออมทรัพย์จัดให้” กับโปรโมชั่นจ่ายบิล โอนเงิน กดเงินผ่านตู้ ATM ทุกธนาคารทั่วประเทศฟรี และ ธนาคารธนชาต หรือ TBANK กับบัญชี “ฟรีเว่อร์ไลท์” ที่ให้สิทธิ์ฟรีค่าธรรมเนียม โอนเงิน ถอนเงิน จ่ายบิล เช่นเดียวกัน

แต่ทั้ง 3 แบงก์นี้ก็มีเงื่อนไขสำคัญ คือต้องทำบัตรเดบิต หรือเปิดบัญชีประเภทที่กำหนดเท่านั้น ถึงจะฟรีค่าธรรมเนียมได้ หรือบางธนาคารก็จำกัดจำนวนครั้งที่ทำธุรกรรมต่อเดือนไว้ชัดเจน

แน่นอนว่า เมื่อธนาคารต่างๆ เหล่านี้หันมาให้บริการ “ฟรีค่าธรรมเนียม” ซึ่งเคยเป็นรายได้หลักส่วนหนึ่งของธนาคาร ในอนาคตเราคงเห็นแพล็ตฟอร์มบริการใหม่ๆ ของบรรดาธนาคารต่างๆ เพิ่มมากขึ้น และธนาคารเองก็คงหันไปเน้นสร้างรายได้จากบริการอื่นๆ เช่น การลงทุน, ค่าธรรมเนียมการลงทุน, ดอกเบี้ย รวมถึงบริการทางการเงินอื่นๆ มาทดแทน

นั่นหมายความว่า หลังจากนี้ “ผู้บริโภค” ก็น่าจะต้องมีต้นทุนในการใช้บริการธนาคารในด้านอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นแน่นอน

ภาพจาก :  Prosofe HRMI

นักวิเคราะห์ชี้กระทบแค่ระยะสั้น-ระยะยาวส่งผลดีแน่นอน

จากปรากฏการณ์ครั้งนี้ ทำให้นักลงทุนต่างกังวลว่าจะกระทบต่อประมาณการกำไรของกลุ่มธนาคารได้ เนื่องจากรายได้ค่าธรรมเนียมต่างๆ ซึ่งเดิมถือเป็นรายได้จำนวนมากจะหายไปทั้งหมด

บล.เคทีบี ประเมินว่า ในระยะสั้นในธนาคารใหญ่ที่เพิ่งประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมคงได้รับผลประทบบ้าง เนื่องจากกระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียมโดยตรง แต่เชื่อมั่นว่าในระยะยาวจะช่วยเรื่องการลดต้นทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดจำนวนสาขาให้เป็นไปตามเป้าหมายของแต่ละธนาคารขนาดใหญ่ได้

ในทางกลับกัน มาตรการ “ฟรีค่าธรรมเนียม” ถือเป็นครื่องมือทางการตลาดรูปแบบหนึ่งที่คาดว่าจะทำให้ฐานลูกค้าของแต่ละธนาคารเพิ่มสูงขึ้น และเมื่อมีจำนวนฐานลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้นแล้วต่อไปธนาคารคงมีบริการใหม่ๆ ออกมาและสามารถสร้างรายได้และกำไรจากแพลตฟอร์มใหม่ๆ มาทดแทนได้ไม่ยาก

ด้าน “อุษณีย์ ลิ่วรัตน์” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บล.เอเซีย พลัส วิเคราะห์ว่า แนวทางนี้เป็นสิ่งที่คาดการณ์ไว้แล้ว เพราะที่ผ่านมาแต่ละธนาคารก็ใช้แคมเปญ “ฟรีค่าธรรมเนียม” เพื่อดึงฐานลูกค้าใหม่เข้ามาเปิดบัญชีเงินฝากให้มากที่สุดกันอยู่ระดับหนึ่งแล้ว  จึงมองว่าไม่กระทบกับกำไรอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้บริษัทฯ ได้คาดการณ์ว่ารายได้จากค่าธรรมเนียมดังกล่าวในปีนี้จะเติบโตที่ราว 7%  ซึ่งต่ำกว่าปีก่อนที่เติบโต 9% โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากค่าธรรมเนียมการปล่อยสินเชื่อที่มีปริมาณธุรกรรมมากขึ้น ไม่ใช่จากค่าธรรมเนียมรายการโอน

นอกจากนี้ ยังมองว่าในระยะยาวธนาคารจะได้ประโยชน์มากกว่า เนื่องจากจะได้ฐานลูกค้าใหม่เข้ามาเปิดบัญชีเงินฝาก ซึ่งช่วยเกิดการทำ Cross-Selling ของผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น การเสนอขายกองทุน และประกัน เป็นต้น

โดยเอเซียพลัสยังคงประมาณการกำไรสุทธิกลุ่มธนาคารพาณิชย์ว่าจะเติบโตได้ที่ประมาณ 13% ซึ่งใกล้เคียงกับกำไรบริษัทรวมในตลาดฯ

ดังนั้น จึงมองว่า มาตรการนี้จะมีผลกระทบต่อธุรกิจธนาคารในระยะสั้นๆ เท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าผู้บริโภคทั่วไปก็จะได้รับประโยชน์ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวแล้วจะส่งผลดีต่อธุรกิจในกลุ่มธนาคารแน่นอน…

 

ขอบคุณภาพ Featured จาก : ธนาคารกสิกรไทย