“ไทย” ติดอันดับ 70 ประเทศมีศักยภาพการแข่งขันด้าน HR ของโลก

1681

กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ ผู้ให้บริการด้านบริการเฉพาะทางที่ช่วยองค์กรในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพ ได้ร่วมกับ Tata Communications และสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก INSEAD เผยผลการจัดอันดับศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรบุคคลของโลก (Global Talent Competitiveness Index) ที่วัดจากทุกมิติทั้งด้านการผลิต ดึงดูด พัฒนาและรักษาทรัพยากรบุคคล

โดยจากการสำรวจใน 119 ประเทศทั่วโลกพบว่า ในปีนี้ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ครองแชมป์ ตามด้วยประเทศสิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศไทยติดอันดับที่ 70 จากเดิมอันดับที่ 73 เหนือประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ลาว กัมพูชา แต่ยังตามหลังมาเลเซียอีกไกล

ขณะที่ความหลากหลายของแรงงาน (Workforce Diversity) นั้นพบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเสมอภาคทางเพศในการทำงานอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก ปีนี้อยู่ในอันดับที่ 21 นำประเทศผู้นำโลกอย่างสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร ที่อยู่ในอันดับที่ 22 37 และ 59 ตามลำดับ

โดยเฉพาะด้านความแตกต่างของรายได้ระหว่างเพศหญิงและเพศชายที่มีความเสมอภาคจนติดอันดับที่ 11 ของโลก ขณะที่โอกาสก้าวสู่ตำแหน่งระดับสูงขององค์กรของแรงงานหญิงก็อยู่ในอันดับค่อนข้างสูง คือ อันดับที่ 28

ธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาคอเด็คโก้ ประเทศไทย-เวียดนาม

“ธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์” ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาคอเด็คโก้ ประเทศไทย-เวียดนาม กล่าวว่า ในภาคของตลาดแรงงานนั้นอยากให้ภาครัฐ-สถาบันการศึกษาเร่งผลิตแรงงานสายอาชีพป้อนตลาด สนับสนุนความหลากหลายในองค์กรเพื่อสร้างสังคมการทำงานที่ดี เนื่องจากในปีนี้ดัชนีศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรบุคคลของโลกประเทศไทยยังตอกย้ำปัญหาเดิมคือ การขาดแคลนแรงงานสายวิชาชีพ ปัจจุบันมีผู้จบปริญญาตรีล้นตลาด ขณะที่ตลาดต้องการแรงงานที่จบสายวิชาชีพและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรม

โดยเฉพาะในกลุ่มชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังเติบโต ซึ่งการแก้ปัญหานี้ต้องเริ่มต้นที่การสร้างค่านิยมให้คนไทยหันมาเรียนสายวิชาชีพกันมากขึ้น ขณะเดียวกันภาครัฐก็ต้องเร่งพัฒนาการศึกษาในระดับ ปวช. ปวส. ให้มีคุณภาพมากขึ้น ปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เน้นความรู้ความสามารถเชิงเทคนิค และเสริมภาษาอังกฤษเพื่อเพิ่มศั กยภาพให้กับแรงงานไทยสู่ ประชาคมอาเซียน

ส่วนด้านการพัฒนาและรักษาทรัพยากรบุคคลนั้น ควรมีการนำระบบ Mentorship หรือระบบพี่เลี้ยงกลับมาปัดฝุ่นอีกครั้ง โดยให้พนักงานรุ่นพี่ที่มีทักษะและทัศนคติที่ดีคอยเป็นพี่เลี้ยงในการสอนงาน ให้คำปรึกษา ปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กร ให้กับรุ่นน้องหรือพนักงานใหม่

โดยมองว่าวิธีนี้จะช่วยให้พนักงานสามารถปรับตัวเข้ากับองค์กร เพื่อนร่วมงานและสภาพแวดล้อมการทำงานได้ง่ายขึ้น ทำให้พนักงานมีทัศนคติที่ดีต่อองค์กรและมีความผูกพันอยากร่วมงานกับองค์กรในระยะยาว ยิ่งไปกว่านั้นหากองค์กรสามารถยกระดับระบบพี่เลี้ยงไปปรับใช้เพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคม (CSR) เช่น การให้คำปรึกษาแนวทางอาชีพกับนักศึกษาและเด็กจบใหม่ ก็จะสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร และเป็นประโยชน์ในการดึงดูดคนเก่งให้เข้ามาทำงานในอนาคต

สำหรับภาครัฐเองก็สามารถนำระบบพี่เลี้ยงนี้ไปใช้ได้เช่นกัน โดยรัฐอาจเป็นสื่อกลางในการรับอาสาสมัครที่มีประสบการณ์เข้ามาให้ความรู้ แนะนำแนวทางอาชีพ ให้กับนักศึกษาหรือผู้ที่สนใจหางาน เพื่อลดปัญหาการว่างงานและได้แรงงานที่มีความรู้ ความสามารถตรงกับความต้องการของตลาด

ส่วนภาพรวมทิศทางการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ในปี 2018 นี้ จะเน้นที่กลยุทธ์ด้านความหลากหลายของพนักงานในองค์กร เพราะสังคมปัจจุบันเป็นยุคของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ การมีพนักงานที่มีความรู้ ความสามารถที่ต่างกันและมีความคิดที่หลากหลายก็จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจ

ด้วยเหตุนี้องค์กรควรเลือกพนักงานจากความสามารถมาก่อนเพศ อายุ เชื้อชาติ ศาสนา สถาบันการศึกษา หรือฐานะทางสังคมของผู้สมัคร ตลอดจนสร้างวัฒนธรรมแห่งการมีส่วนร่วม (Culture of Inclusion) เปิดกว้างทางความคิดและยอมรับในความแตกต่างของแต่ละบุคคล เคารพในความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ซึ่งในจุดนี้ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของคนทั้งองค์กร จึงจะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จได้