แกะ-รอย-โรงแรม (ตอน7) การบริหารรายได้คือการจัดการกับ “ตัวเลข” อย่างชาญฉลาด

1771

เรื่องโดย : สุภมาส บำรุงพาณิชย์

Managing Director : ULTIMATE SUCCESS

ในโลกยุคดิจิตัลในปัจจุบันนี้คงไม่มีใครที่จะปฏิเสธได้ว่า เรื่องตัวเลขเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และเป็นเรื่องที่เราต้องศึกษา เรียนรู้ อย่างต่อเนื่องอย่างไม่มีสิ้นสุด เพราะ การก้าวไปในโลกธุรกิจในอนาคตก็เต็มไปด้วยการแข่งขันที่นับวันมีแต่ทวีคูณมากขึ้น

การบริหารรายได้ในทุกๆ ธุรกิจนั้นเริ่มต้นเราควรจะรู้ก่อนว่า “ต้นทุน” ของเรามีเท่าไหร่ ควรจะขายสินค้าราคาเท่าไหร่ และต้องขายจำนวนได้เท่าไหร่ จึงจะมีกำไร หรือครอบคลุมค่าใช้จ่าย

ฟังดูแล้วอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะยาก แต่ในความเป็นจริงในโลกธุรกิจไม่ได้มีแค่ผู้ซื้อและผู้ขาย แต่เรายังมีคู่แข่งขันที่เป็นตัวเลือกให้กับผู้ซื้อที่สามารถเลือกซื้อได้ตามความพึงพอใจ

การบริหารรายได้ของโรงแรมก็เช่นเดียวกัน ซึ่งต้องเริ่มจากที่เราควรจะรู้ก่อนว่าเรามีต้นทุนของห้องพักต่อห้องเท่าไหร่ ทั้งต้นทุนพื้นฐานและต้นทุนผันแปร คือ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแรงงาน ค่าซักรีด ค่า guest amenities ในห้องพัก และอื่นๆ

หลังจากนั้น เราก็สามารถประเมินและตั้งราคาขายขั้นต้นไว้ก่อนได้ว่าควรจะขายราคาห้องพักเท่าไหร่ถึงจะมีกำไรตามที่ต้องการ แต่การจะตั้งราคาขายนั้นเราก็ควรที่จะทราบก่อนว่าโรงแรมที่อยู่ในระดับเดียวกับเรานั้นเขามีการตั้งราคาขายเท่าไหร่

เพราะในตลาดไม่ได้มีเราเป็นโรงแรมเดียว และผู้ซื้อย่อมสามารถค้นหาและเปรียบเทียบได้ง่าย เพราะโลกออนไลน์เพียงแค่คลิกเดียวก็สามารถหาข้อมูลได้มากมาย

และเนื่องจากโรงแรมอาจจะไม่ได้มีรายได้ในส่วนเดียว แต่อาจมีรายได้ในส่วนอื่นๆ ด้วย เช่น รายได้จากการขายอาหารและเครื่องดื่ม รายได้จากการจัดเลี้ยง รายได้จากสปา ฯลฯ ดังนั้น ทุกรายได้ควรจะมีการพิจารณาทั้งจากยอดขายและกำไร ซึ่งก็คือการบริหารต้นทุนเพื่อให้ก่อเกิดรายได้ที่มีกำไรสูงสุด

ดังนั้นการเก็บตัวเลขและนำมาวิเคราะห์ให้เข้ากับการตลาด การเงิน และการบัญชี จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการบริหารกิจการ

สำหรับผู้ที่กำลังคิดจะริเริ่มกิจการจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการประเมินและการวิเคราะห์รายได้และรายจ่ายล่วงหน้า การหาข้อมูลคู่แข่งขัน การหาต้นทุนผลิตภัณฑ์ หรืออื่นๆ ที่รวมเรียกว่า การศึกษาความเป็นไปได้ของตลาด ( Feasibility Study ) ดังที่ได้เคยเขียนไว้ใน แกะ -รอย-โรงแรม (ตอน1)

และสำหรับผู้ที่มีกิจการแล้ว การเริ่มนำข้อมูลมาวิเคราะห์และศึกษาเพื่อปรับเปลี่ยนการบริหารรายได้เป็นสิ่งที่ผู้เขียนอยากแนะนำว่า “ควรเริ่มปฏิบัติในทันที”

อย่างไรก็ตาม การบริหารรายได้ก็ไม่ได้มีเพียงตัวเลขรายได้ รายจ่าย ต้นทุน กำไรเท่านั้น แต่สิ่งทึ่สำคัญที่ต้องตระหนัก ใส่ใจ และสร้างสรรค์คือ การมีกลยุทธ์ หรือแผนปฎิบัติการที่ต้องวางแผนและดำเนินการอย่างชาญฉลาด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานเพื่อผลประโยชน์สูงสุดขององค์กร