คู่สมรสเตรียมเฮ! รัฐรับลูกมาตรการภาษีสนับสนุนการมีบุตร คู่สามี-ภรรยาหักลดหย่อนลูกคนที่ 2 ได้เพิ่มคนละ 3 หมื่น

1652

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตร) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

ปรับเพิ่มลดหย่อนภาษีลูกคนที่ 2 อีก 3 หมื่นบาท

ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 ที่เห็นชอบในหลักการให้กระทรวงการคลังดำเนินมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุแบบบูรณาการ สำหรับรายละเอียดของร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมาตรการภาษี เพื่อสนับสนุนการมีบุตรสรุปได้ ดังนี้

1. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. กำหนดให้ปรับเพิ่มค่าลดหย่อนบุตรชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่คนที่ 2 เป็นต้นไปของผู้มีเงินได้ หรือของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ซึ่งเกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ไม่ว่าบุตรคนก่อนหน้าจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ ให้หักค่าลดหย่อนได้เพิ่มอีก 30,000 บาทต่อคนต่อปีภาษี และให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี 2561 ที่จะต้องยื่นรายการในปี 2562 เป็นต้นไป

“ค่าฝากครรภ์-คลอดลูก” ก็นำไปหักลดหย่อนภาษีได้

2. ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร กำหนดให้ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสสามารถนำค่าฝากครรภ์หรือค่าคลอดบุตรไปหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริงสำหรับการตั้งครรภ์แต่ละคราว แต่ไม่เกิน 60,000 บาท หากการจ่ายค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรเกิน 1 ปีภาษีสำหรับการตั้งครรภ์แต่ละคราวให้หักลดหย่อนตามจำนวนที่จ่ายจริงในแต่ละปีภาษี แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 60,000 บาท ทั้งนี้ สำหรับค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไปให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

“การหักลดหย่อนบุตร สามี ภรรยา จะหักได้คนละไม่เกิน 6 หมื่นบาท โดยคาดว่าปี 2561 จะมีอัตราการเกิดที่เป็นบุตรคนที่ 2 ขึ้นไปราว 352,000 ราย”

อย่างไรก็ตาม สิทธิในการหักลดหย่อนสำหรับค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรข้างต้นให้เฉพาะผู้ที่ไม่ได้มีการเบิกค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์และคลอดบุตรจากแหล่งอื่น ๆ เช่น สิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ เป็นต้น ซึ่งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าวจะเป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดต่อไป

หนุนคนไทยมีลูกเพิ่มขึ้น-รองรับโครงสร้างประชากรระยะยาว

ทั้งนี้ มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตรดังกล่าวจะเป็นมาตรการในการจูงใจให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้มีเงินได้มีบุตรเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งจะเป็นการสนับสนุนให้บุตรได้รับการเลี้ยงดูให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศ และส่งผลให้ในระยะยาวมีสัดส่วนประชากรวัยแรงงานเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นกำลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง 

นางสาวกุลยากล่าวว่า หลังจากนี้จะเป็นขั้นตอนการตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อลงพระปรมาภิไธย ก่อนจะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

ส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบการ

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 ยังได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็ก เพื่อเป็นสวัสดิการของลูกจ้างสำหรับสถานประกอบการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีให้กระทรวงการคลังได้หารือร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และกระทรวงแรงงานในการพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์การจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก

ทั้งนี้ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบกิจการให้มีความแตกต่างจากหลักเกณฑ์สำหรับศูนย์เลี้ยงเด็กทั่วไป (Stand-alone) โดยคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติได้ออกระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติว่าด้วยการจัดให้มีศูนย์รับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2560 ซึ่งมีความเหมาะสมกับบริบทของศูนย์รับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบการเป็นการเฉพาะ

รวมทั้งยังเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กเพื่อเป็นสวัสดิการของลูกจ้างสำหรับสถานประกอบการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบการมาหักเป็นรายจ่ายได้ตามที่จ่ายจริงและสามารถหักได้เพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตามที่จ่ายจริง (หักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า) แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท

หวังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของลูกจ้าง

นางสาวกุลยากล่าวด้วยว่า การดำเนินการตามมาตรการข้างต้น เป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการมีการจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบการเพื่อเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้แก่ลูกจ้าง อันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของลูกจ้าง ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุณภาพการศึกษาของเด็กปฐมวัยของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐที่กำหนดให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัยตามมาตรา 54 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รวมถึงช่วยให้บิดา มารดา และบุตรได้อยู่ใกล้ชิดกัน อันจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีแก่สมาชิกภายในครอบครัว และเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับสถาบันครอบครัว ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของสังคมที่มีคุณภาพต่อไป

 

ขอบคุณภาพ Featured จาก : โรงพยาบาลเปาโล