“SCB” ชี้เศรษฐกิจไทยปี 2018 ส่งสัญญาณฟื้นตัว-การลงทุนภาคเอกชนกำลังกลับมา

3436

จากรายงานของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรืออีไอซี ได้วิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส1/2561 ว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2018 มีแนวโน้มขยายตัวดีสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน (synchronized growth) ในทุกภูมิภาค หลักจากภาวะการค้าโลกที่ดีต่อเนื่องและการบริโภคภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง

การค้าโลกฟื้นตัวต่อเนื่อง

ภาวะการค้าโลกที่ฟื้นตัวต่อเนื่องทำให้ภาคการส่งออกเป็นแรงสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในหลายภูมิภาคทั่วโลกต่อไปได้ ประกอบกับแรงส่งจากการบริโภคภายในประเทศที่แข็งแกร่งจากตลาดแรงงานในกลุ่มประเทศหลักที่เริ่มเข้าสู่ภาวะการจ้างงานเต็มที่

อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจโลกโดยรวมจะเติบโตต่อเนื่องอยู่ในเกณฑ์ที่ดีแบบไม่ร้อนแรง (goldilock) แต่อัตราเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในหลายหมวดโดยเฉพาะหมวดเกษตรยังไม่ได้ฟื้นตัวสอดคล้องกับราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นและกระทบกำลังซื้อของภาคเศรษฐกิจบางส่วน ประกอบกับประสิทธิภาพการผลิต (productivity) และค่าแรง (wage) ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ได้ปรับตัวเพิ่มเท่าการลดลงของอัตราการว่างงาน

ทั้งนี้ แม้นโยบายการเงินของธนาคารกลางในกลุ่มประเทศหลักโดยเฉพาะในสหรัฐฯ จะเริ่มเข้าสู่ภาวะตึงตัว แต่การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปและอ้างอิงปัจจัยในตลาดแรงงานและอัตราเงินเฟ้อเป็นสำคัญ

ด้านอัตราดอกเบี้ยทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจะเข้าสู่วงจรขาขึ้นอย่างชัดเจนมากขึ้น จากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายและการลดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และการเริ่มลดวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE tapering) ของ ECB ตามแผน

ปัญหาการเมืองยุโรปยังต้องเผ้าติดตาม

อีไอซี ยังวิเคราะห์ด้วยว่า ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกและประเด็นที่ควรจับตาในปี 2018 มีประเด็นที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ความคืบหน้าการดำเนินนโยบายการคลังของสหรัฐฯ เสถียรภาพทางการเมืองในเขตยูโรโซน และการเริ่มชะลอตัวและภาวะหนี้ในระบบเศรษฐกิจของจีน แม้ว่าแผนการปฏิรูประบบภาษีจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้ว แต่แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ยังไม่มีรายละเอียดอาจส่งผลเชิงลบต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจสหรัฐฯ และส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และค่าเงินสกุลหลักทั่วโลกในระยะต่อไปได้

ทางด้านเสถียรภาพทางการเมืองในเขตยูโรโซนนั้นก็ยังไม่พ้นความเสี่ยงและต้องเฝ้าติดตาม เพราะจะมีประเด็นสั่นคลอนเอกภาพในภูมิภาคอยู่เป็นระยะ เช่น เยอรมนีที่อาจต้องจัดการเลือกตั้งใหม่จากการที่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมได้สำเร็จ ความเสี่ยงต่อการแยกตัวเป็นเอกราชของคาตาโลเนียออกจากสเปน การเลือกตั้งของอิตาลีในเดือนมีนาคม 2018 และการเจรจาประเด็น Brexit ที่ต้องได้ข้อสรุปก่อนเดือนมีนาคม 2019 เป็นต้น

เศรษฐกิจจีนยังชะลอตัว

นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนหลังการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 19 ในเดือนตุลาคม 2017 ที่ผ่านมายังชี้ให้เห็นถึงตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอลง แม้จีนจะเน้นการเติบโตที่มีคุณภาพ แต่ปัญหาหนี้ภาคเอกชนของจีนที่อยู่ในระดับสูงจะเริ่มถูกจับตามากขึ้น

รวมถึงความเสี่ยงประเด็นรองอื่นๆ เช่น ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ทั้งในคาบสมุทรเกาหลีและความขัดแย้งในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และนโยบายการเงินที่อาจตึงตัวเร็วเกินคาดถ้าเงินเฟ้อเร่งตัวยังเป็นความเสี่ยงด้านต่ำที่ไม่อาจละเลยได้ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบเฉียบพลันต่อทั้งตลาดการเงินโลก ค่าเงินและแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้

คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้ โต 4%

จากภาพรวมของเศรษฐกิจโลกดังกล่าว “อีไอซี” จึงมองเศรษฐกิจไทยปี 2018 ว่าจะยังโตต่อเนื่องที่ 4.0%YOY เสริมด้วยการลงทุนภาคเอกชนที่กำลังจะกลับมา อานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่งส่งผลให้การส่งออกและการท่องเที่ยวไทยมีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า ซึ่งนั่นเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การลงทุนภาคเอกชนของไทยมีโอกาสกลับมาขยายตัวตามการผลิตเพื่อการส่งออกที่มีการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นติดต่อกันมาหลายเดือน

นอกจากนี้ การลงทุนภาคเอกชนยังมีสัญญาณสนับสนุนอื่นๆ อีก ได้แก่ การขยายสาขาของกลุ่มค้าปลีกขนาดใหญ่ การเริ่มกลับมาเปิดโครงการของบริษัทพัฒนาอสังหาฯ ตามเม็ดเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐที่มีแนวโน้มขยายตัวอีกเท่าตัว และการลงทุนในเทคโนโลยีของบริษัทใหญ่เพื่อปรับธุรกิจเข้าสู่ยุคดิจิทัล

รวมถึงธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่มีความคึกคักอย่างชัดเจนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก็มีแนวโน้มนำไปสู่การลงทุนในหลายด้าน ทั้งในด้านการขนส่ง โกดังสินค้า และการรองรับเทคโนโลยีการชำระเงินออนไลน์

EEC ตัวแปรสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ ตัวแปรสำคัญที่อาจทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2018 เติบโตได้สูงกว่าคาดคือการลงทุนของบริษัทต่างชาติในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)

สำหรับภาคการบริโภคภาคเอกชนในภาพรวมนั้นมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องเช่นกันแต่เป็นการพึ่งพากำลังซื้อของคนบางกลุ่มที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ได้แก่ กลุ่มผู้มีรายได้สูงและกลุ่มผู้ซื้อรถคันแรกที่ทยอยหมดภาระการผ่อน ซึ่งจะช่วยให้สินค้าและบริการที่เจาะกลุ่มชนชั้นกลางยังคงขยายตัวได้

นอกจากนี้ การผ่านพ้นช่วงไว้อาลัยก็จะทำให้กิจกรรมต่างๆ กลับมาดำเนินการตามปกติ เช่น การจัดงานรื่นเริง กิจกรรมและสื่อด้านความบันเทิง รวมไปถึงการท่องเที่ยวทั้งของคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อของคนส่วนใหญ่ยังคงได้รับผลกระทบจากทั้งการจ้างงานและค่าจ้างที่ลดลงในปีที่ผ่านมา รวมถึงภาระหนี้ต่อรายได้ที่ยังสูงและเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อการบริโภคจับตา 4 ความเสี่ยงหลัก

ส่วนประเด็นเรื่องความเสี่ยงนั้น “อีไอซี” ประเมินว่ามี 4 ความเสี่ยงหลักในปี 2018 ประกอบด้วย 1. ราคาสินค้าเกษตรที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำจากผลผลิตที่ออกมามากจะกระทบกับรายได้ของครัวเรือนส่วนใหญ่ เป็นการส่งผลซ้ำเติมต่อกำลังซื้อที่ยังไม่ได้ฟื้นตัว

2.การแข็งค่าของเงินบาทที่จะกระทบกับรายได้ในรูปเงินบาทและความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก 3. การขาดแคลนแรงงานทั้งแรงงานต่างด้าวและแรงงานทักษะขั้นสูง ซึ่งความเสี่ยงนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวของการลงทุนสะดุดลงได้

และ 4. ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่มีโอกาสส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ อาทิ ความไม่สงบในคาบสมุทรเกาหลี ความไม่แน่นอนทางการเมืองของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองของหลายประเทศในสหภาพยุโรป

การวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจดังกล่าวนี้ แม้ว่าในภาพรวมยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระมัดระวัง แต่ก็ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจของไทยในปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัวที่ชัดเจน และหากการลงทุนของบริษัทต่างชาติในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ (EEC) เดินหน้าได้ตามแผนที่วางไว้ก็น่าจะเป็นปัจจัยบวกที่ดีต่อการลงทุนได้อย่างมาก เพราะภาคเอกชนมีความพร้อมในการลงทุนเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวทีเดียว…