ก้าวแรกของ “CPT” สู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ ก้าวสำคัญ สู่การเป็นผู้นำระบบควบคุมไฟฟ้ากำลังของอาเซียน

46123

ย้อน หลังไปในปี 2537  สามหนุ่มวิศวกรไฟฟ้ากำลังควบคุมเครื่องจักรกลในโรงงาน สมศักดิ์ หลิมประเสริฐ, อภิชาติ ปีปทุม และนพดล วิเชียรเกื้อ ที่ทำงานกับบริษัทข้ามชาติในหลายบริษัทมานับสิบปี มองเห็นโอกาสในการสร้างธุรกิจระบบไฟฟ้ากำลังของคนไทย จากความรู้ ความสามารถของทั้ง 3 คน ผนวกกับโนว์ฮาวการผลิตที่ได้มาจากการทำงานกับบริษัทข้ามชาติ  และคอนเนคชั่นกับลูกค้าที่ค้าขายกันมานาน  จึงได้ก่อตั้งบริษัท ซี.พี.ที. (ไทยแลนด์) จำกัด ขึ้น และเปลี่ยนชื่อเป็น  “ซีพีที ไดร์ แอนด์ เพาเวอร์”  ในปี 2546

ซี.พี.ที. มีความหมาย C – Control,   P-Power  และ T-Transmission หมายถึง ระบบไฟฟ้ากำลังสำหรับควบคุมการทำงานของเครื่องจักร ดำเนินธุรกิจขายอุปกรณ์ตู้ระบบไฟฟ้าและระบบควบคุมเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม  เพียงช่วง 4 เดือนแรกของการเปิดกิจการเอง ก็สามารถทำยอดขายไปได้ถึงกว่า 30 ล้านบาท และขึ้นถึงหลัก 100 ล้านบาทในปีต่อมา

ความสำเร็จนี้ อภิชาติ ปีปทุม หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง และดำรงตำแหน่ง  กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีที ไดร์ แอนด์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เผยถึงเหตุผลว่า ด้วยทีมงานผู้ก่อตั้ง นอกจากมีความรู้ด้านวิศวกรไฟฟ้ากำลังแล้ว ยังทำหน้าที่ Sale Engineer รู้ถึงความต้องการของลูกค้า การขายจึงเหมือนเป็นการช่วยคิด ช่วยออกแบบ เพื่อให้ได้งานที่ดี และเหมาะสมที่สุด  รวมถึงการมีการเก็บสำรองอะไหล่ และการบริการหลังการขายตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้งานของลูกค้ามีความต่อเนื่อง ไม่ติดขัดให้เกิดความเสียหาย

                                                       อภิชาติ ปีปทุม 

 กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีที ไดร์ แอนด์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)

 

  ปัจจุบัน CPT มีธุรกิจ 4 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย

1 ธุรกิจการขายตู้ไฟฟ้า  ถือเป็นธุรกิจหลักที่ทำรายได้ให้บริษัทมากกว่า 50%  โดยเป็นตู้ไฟควบคุมเครื่องจักร ที่ CPT   มีโรงงานผลิตสินค้าเอง ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม MMC  ปทุมธานี  และตู้ไฟฟ้าระดับแรงดันต่ำ (220-690 V.) และแรงดันปานกลาง (3.3-36 kV.)

 

2 ธุรกิจขายสินค้าสำเร็จรูป  โดย CPT  เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าสำเร็จรูปประเภทอุปกรณ์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ควบคุม โดยเป็นผลิตภัณฑ์มาตรฐานจากผู้ผลิตชั้นนำทั่วโลก อาทิ AC Motor ขนาดใหญ่ แบรนด์ Hyosung จากเกาหลี , และแบรนด์  WEG จากบราซิล,  DC Motor ทั้งขนาดใหญ่และเล็ก แบรนด์ TT Electric จากฝรั่งเศส    , Inverter ขนาดแรงดัน 220-690V  แบรนด์ Danfoss(VACON) จากฟินแลนด์ และ DC Drives แบรนด์ Parker Hannifin จากอังกฤษ เป็นต้น

 

3 ธุรกิจจากการให้บริการติดตั้งสายไฟ (Cable Installation)  และรับเหมาก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย (Substation) ขนาดแรงดัน 69-115 kV.

4 ธุรกิจจากการให้บริการและซ่อมแซม (Service and Repair) ทั้งลูกค้าที่อยู่ในระยะเวลารับประกัน และพ้นระยะเวลารับประกันไปแล้ว

โดยปัจจุบัน  CPT มีลูกค้าที่ใช้บริการอยู่มากกว่า 500 ราย  ตั้งแต่โรงงานน้ำตาล  โรงงานกระดาษ  โรงงานปูนซิเมนต์  โรงงานยาง  ผู้ผลิตเครื่องจักร ไปจนถึงอาคารศูนย์การค้า ศูนย์แสดงสินค้า  โดยอภิชาติ กล่าวว่า เหตุที่ CPT มีลูกค้ามากเช่นนี้ เนื่องจาก ลูกค้าส่วนใหญ่เมื่อได้มีโอกาสใช้บริการจาก CPT  แล้ว ก็จะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง เมื่อลูกค้าเหล่านี้มีการเปิดโรงงานใหม่ เปิดโครงการใหม่  เพิ่มเติมเครื่องจักร  หรือปรับปรุง ซ่อมแซม ก็จะเรียกใช้ CPT

“ลูกค้าของเราบางราย รู้จักกันมาตั้งแต่ปี 2534 ติดต่อกันมาจนเงียบหายไป 6-7 ปี  มาถึงปีนี้จะเปิดโรงงานใหม่ ก็มาเรียกให้บริการให้เราไปตั้งสถานีโรงไฟฟ้าย่อย ลูกค้าส่วนใหญ่ถ้าเริ่มต้นกับเรา เขาก็จะอยู่กับเราไปตลอด เพราะเราบริการดี และออกแบบได้ดี”

ทำให้วันนี้ CPT ถือเป็นบริษัทผู้ให้บริการด้านระบบควบคุมไฟฟ้ากำลังสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม รวมไปถึงสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่ครบวงจรที่สุดในประเทศไทย  ทำให้ผู้บริหารทั้ง 3 ของ CPT มองไปถึงก้าวต่อไป ที่มองเป้าหมายสู่การเป็นผู้เล่นในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ทำให้ต้องนำบริษัทเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์

อภิชาติกล่าวว่า การเติบโตของ CPT ต่อจากนี้จะต้องเป็นไปอย่างก้าวกระโดด ดังนั้น บริษัทฯ จึงจำเป็นต้องมีเงินทุนมากพอ ทั้งเพื่อการลงทุน และการใช้หมุนเวียน  โดยเงินที่คาดว่าจะได้จากการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ราว 600 ล้านบาท จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน

ส่วนที่หนึ่ง ราว 200 ล้านบาท  จะถูกใช้ในการตั้งโรงงานแห่งใหม่ เพื่อใช้ในการผลิตสินค้าใหม่ ประกอบด้วย ตู้ Ring Main Unit สวิทช์ตัดต่อไฟ,  ตู้ Metal Clad Switchgear (MCSG) ซึ่งเป็นตู้ไฟแบบ Type Test และ Energy Storage  System ระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า

โดยอภิชาตกล่าวว่า ตู้ Ring Main Unit  เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีโอกาสทางธุรกิจสูงมาก เพราะเป็นสวิทช์ตัดต่อไฟฟ้าซึ่งอาคารที่สูงตั้งแต่ 8 ชั้นขึ้นไปทุกอาคารต้องติดตั้ง  ในพื้นที่ที่การไฟฟ้านำสายไฟฟ้าลงดิน ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดท่องเที่ยว ทำให้มีความต้องการใช้อุปกรณ์ ตู้ Ring Main Unit ไม่น้อยกว่า 200 ตัวต่อปี และมีโอกาสในการขายยาวนาน 10-20 ปี

ขณะที่การผลิตตู้ไฟชนิดไม่มีโครงสร้างMCSG  เพื่อรองรับในการเข้าประมูลงานตามความต้องการของหน่วยงานรัฐบาลและบริษัทเอกชนรวมถึงลูกค้าในต่างประเทศซึ่งมีความต้องการตู้ประเภทนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น โรงงานอุตสาหกรรมหนัก โรงไฟฟ้า (Power Plant) , การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(EGAT) การไฟฟ้านครหลวง (MEA)  การไฟฟ้าภูมิภาค (PEA) เป็นต้น

สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน หรือ Energy Storage  System  มีเป้าหมายลูกค้าที่เป็นพลังงานทางเลือก เช่น ฟาร์มผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดและกังหันลม (Solar Farm, Wind Turbine) และโรงงานอุตสาหกรรมหนักเพื่อช่วยการสตาร์ทมอเตอร์ขนาดใหญ่

เงินทุนส่วนที่ 2 ราว 70 ล้านบาทจะใช้ไปการขยายธุรกิจสู่ประเทศเพื่อนบ้าน  แม้ที่ผ่านมา CPT จะมีการจำหน่ายสินค้าออกไปสู่ต่างประเทศ แต่วันนี้ยังไม่มีสำนักงานในต่างประเทศ โดยเป้าหมาย 3 ประเทศที่จะเข้าไปตั้งสำนักงาน เพื่อรุกธุรกิจอย่างเต็มที่ คือ เวียดนาม, ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย  ที่มีโอกาสในการเข้าไปรับงานเปลี่ยนระบบเครื่องจักรในโรงงานน้ำตาลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต จากระบบไอน้ำเดิม มาเป็นระบบไฟฟ้า ซึ่ง CPT ถือเป็นผู้นำในการวางระบบไฟฟ้าให้กับโรงงานน้ำตาล จากโปรไฟล์การวางระบบให้กับโรงงานน้ำตาลส่วนใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีโรงงานน้ำตาลใหญ่ที่สุดในโลกมาแล้ว โดยทั้งฟิลิปปินส์กำลังเข้าสู่การปรับเปลี่ยนระบบ ขณะที่อินโดนีเซีย มีความต้องการทั้งการปรับเปลี่ยนระบบ และสร้างโรงงานแห่งใหม่   ส่วนเวียดนาม ก็จะถือเป็นการเปิดสำนักงานขึ้นใหม่อีกครั้ง หลังจาก CPT   เคยมีสำนักงานแล้วปิดทำการไป

สำหรับเงินทุนส่วนที่ 3  ที่เหลือจาก 2 ส่วนแรก จะถูกใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ในการเข้าไปรับงานจากราชการ ซึ่งถือเป็นตลาดสำคัญ แต่ที่ผ่านมา CPT ยังไม่สามารถรับภาระจากการเสนองานภาครัฐ ตั้งแต่ ค่าค้ำประกันซองประกวดราคา, การตรวจรับงานช้า ทำให้อาจกระทบกับกระแสเงินสดของบริษัท  ซึ่งเมื่อมีทุนสำรองมากขึ้นจากการระดมทุน ก็จะทำเปิดโอกาสให้ CPT เสนอตัวประมูลงานราชการมากขึ้น

 

“วันนี้ CPT ก็ได้งานจากภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจมาแล้ว ไม่ใช่ว่าต้องรอเข้าตลาดหลักทรัพย์  ทั้งงานของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, การประปาส่วนภูมิภาค, กรมชลประทาน , กรุงเทพมหานคร และในเร็วนี้ ก็มีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ SPP Hybrid Firm พ.ศ. 2560 ที่มีเป้าหมายการรับซื้อไม่เกิน 300 เมกะวัตต์  ที่ได้ประกาศผู้ได้สัมปทาน 17 ราย ก็จะเป็นโอกาส โดยเราได้โฟกัสลูกค้า 9  จาก 17 ราย ที่มีโอกาสพูดคุยในการขายงานสถานีไฟฟ้าย่อยได้  รวมไปถึงตู้ไฟ และระบบการคอนโทรล  หากสามารถเจรจากับทั้ง 9 ราย ได้สำเร็จ จะมีมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 560 ล้านบาท”

อภิชาตกล่าวว่า วันนี้ CPT สามารถวางโครงสร้างกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจได้อย่างมั่นคง ทั้งการกระจายกลุ่มลูกค้าออกไปในหลายอุตสาหกรรม ทั้งภาคเอกชน และภาครัฐ  รวมถึงมีการขยายธุรกิจออกไปยังต่างประเทศ เมื่อ CPT สามารถระดมทุนและดำเนินการตามแผนที่วางไว้ ประกอบกับหลายๆ โครงการที่บริษัทได้รับในปีนี้ จะเริ่มออกผลเป็นรายได้เต็มตัวตั้งแต่ปี 2562  เป็นต้นไป เชื่อว่า ภายในเวลา 5 ปี  CPT จะมีการเติบโตของรายได้ระดับเท่าตัวได้ทุกปีแน่นอน

และ CPT จะก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านระบบควบคุมไฟฟ้ากำลังของอาเซียน