“TOBITATE! NEXT JAPAN” ทุนส่งเรียนนอก โปรเจ็กต์ “สร้างคน” ระดับชาติของญี่ปุ่น

3255

เรื่องโดย : ผศ.ดร.ณัฐธเดชน์ ชุ่มปลั่ง ภาควิชาสาธารณสุขศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ International University of Health and Welfare ประเทศญี่ปุ่น

ญี่ปุ่น” มีตัวอย่างที่ดีในเรื่องโปรเจ็กต์ระดับชาติให้ศึกษาและเรียนรู้มากมาย เหตุผลหนึ่งที่ผู้เขียนเลือกมาศึกษาที่นี่คือ ทำไมประเทศที่เป็นเกาะเล็กๆ อย่างญี่ปุ่น ประสบภัยธรรมชาติอยู่บ่อยครั้งถึงได้สามารถสร้างพลเมืองให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลกได้จนถึงทุกวันนี้

สิ่งหนึ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากความสำเร็จในการพัฒนาประเทศญี่ปุ่นที่ผ่านมานั่นคือ การให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการศึกษา ซึ่งหากย้อนกลับไปมองยุทธศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่นที่ผ่านมา จะเห็นว่าญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับคนหนุ่มสาวเป็นอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนและนำพาสังคมและประเทศชาติไปสู่การพัฒนาและยืนหยัดในสังคมโลก

เว็บไซต์ประชาสัมพันธ์โครงการ 

ภาพจาก http://www.tobitate.mext.go.jp/program/index.html

ล่าสุด ญี่ปุ่นมีโครงการระดับชาติ ใช้ชื่อแคมเปญว่า “TOBITATE! NEXT JAPAN” ในการสนับสนุนทุนระยะสั้นให้นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยและนักเรียนระดับมัธยมปลายทุกคน ได้เพิ่มทักษะ เรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมต่างชาติ หาประสบการณ์การวิจัยหรือการทำงานที่ต่างประเทศตามความชอบและความสนใจอย่างอิสระ ในระยะเวลาตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปีครึ่ง

โดยในการคัดเลือกนั้นจะไม่นำผลการเรียนมาเป็นเกณฑ์ตัดสิน และจะไม่มีการสอบข้อเขียนวัดความรู้ใดๆ ทั้งสิ้น แต่จะดูจากการนำเสนอแผนการเรียนว่ามีความชัดเจนในการเรียนและการหาประสบการณ์ในประเทศที่ตนสนใจภายในระยะเวลาที่ตนกำหนดได้ และมีความเหมาะสมเพียงใด

ที่สำคัญคือ สามารถถ่ายทอดความตั้งใจจริงและแสดงเป้าหมายที่ชัดเจนในการสอบสัมภาษณ์  ซึ่งโครงการที่ให้ทุนในลักษณะนี้ ถ้ามองจากการให้ทุนของที่ต่างๆ ทั่วโลกจะมีความแตกต่างจากเกณฑ์การคัดเลือกนักเรียนทุนที่เคยมีมาแต่เดิมอย่างชัดเจน  ซึ่งผู้เขียนมองว่าทุนนี้มีแนวคิดที่แปลกใหม่สร้างสรรค์ ให้โอกาสกับคนที่มีความฝัน ความมุ่งมั่น และที่สำคัญคือสอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน ซึ่งสอดคล้องการสร้างชาติในระยะยาว

นักศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกเข้าสู่รอบสัมภาษณ์

ภาพจาก http://www.co-media.jp/article/8899

โครงการทุน “TOBITATE! NEXT JAPAN”  เริ่มมาตั้งแต่ปี 2014 ภายใต้ยุทธศาสตร์ของคณะรัฐบาล 「日本再興戦略~JAPAN is BACK นำโดยกระทรวงศึกษาธิการร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชน เช่น บริษัทชั้นนำชื่อดัง โดยไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ในการใช้ทุน

โครงการนี้มีเป้าประสงค์ในการสร้างเครือข่ายบุคลากรให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ระดับโลก (Global Human Resources) และมีเป้าหมายในการกระตุ้นให้คนหนุ่มสาวญี่ปุ่นสนใจไปเรียนต่างประเทศมากขึ้น

โดยเล็งว่าภายในปี 2020 จะมีผู้เข้าร่วมโครงการ 180,000 คน  ซึ่งที่ผ่านมา ทุนนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ได้รับความสนใจและมีผู้สมัครคัดเลือกเป็นจำนวนมากขึ้นทุกๆ ปี โดยมีการดำเนินมาจนถึงรุ่นที่ 8 เนื่องด้วยเหตุผลที่ทุนนี้คัดเลือกเฉพาะผู้ที่ตั้งใจจริงและมีความสามารถ  มีแผนการเรียนและเป้าหมายในการเรียนที่ชัดเจน

ตัวอย่างเอกสารสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นนักเรียนทุน

ภาพจาก http://www.co-media.jp/article/8899

สำหรับการคัดเลือกทุนจะมี 2 ขั้นตอนคือ การคัดเลือกจากเอกสาร และจากการสอบสัมภาษณ์  โดยในการคัดเลือกจากเอกสารนั้นผู้สมัครจะต้องเลือกสาขาที่ตนจะสมัครคอร์สใดคอร์สหนึ่งใน 4 คอร์ส ยกตัวอย่างเช่น คอร์สของนักศึกษามหาวิทยาลัยจะมีแยกย่อยออกไปอีก 4 สาขา คือ 1. สาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ วิทยาศาสตร์ผสมผสาน  2. สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศึกษา 3. สาขาส่งเสริมเสริมทรัพยากรมนุษย์ที่มีความหลากหลาย และ 4. สาขาส่งเสริมเสริมทรัพยากรในท้องถิ่น

หลังจากเลือกสาขาที่เหมาะสมกับตนแล้ว  จะต้องกรอกเอกสารที่มีความยาวทั้งหมด 4 แผ่น โดยต้องเขียนบรรยายถึงหัวข้อหรือประเด็นนั้นๆ ให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด เช่น เหตุผล เป้าหมายในการสมัครเข้าร่วมโครงการ ความตั้งใจในการเดินทางไปในประเทศที่ตนอยากไป แผนการศึกษา ผลที่คาดว่าจะได้จากการไปเรียน เป็นต้น

ส่วนหนึ่งของการนำเสนอแผนการศึกษาต่อและจุดประสงค์ของการไปเรียน

 ภาพจาก http://www.co-media.jp/article/8899

หลังจากผ่านการสอบคัดเลือกในขั้นตอนนี้แล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนของการสัมภาษณ์ ซึ่งจะแบ่งเป็นสัมภาษณ์รายบุคคลประมาณ 30 นาที และสัมภาษณ์เป็นกลุ่มอีกประมาณ 1 ชั่วโมง ผู้ที่เป็นกรรมการสัมภาษณ์จะเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลของบริษัทที่สนับสนุนทุนในโครงการและเป็นกรรมการในการคัดเลือก

สำหรับการสอบสัมภาษณ์เป็นกลุ่มจะมีลักษณะพิเศษคือ จะแบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ การอภิปรายในหัวข้อที่กำหนด 40 นาที พร้อมทั้งนำเสนอข้อสรุปของการอภิปรายให้กลุ่มอื่นได้ฟัง และการนำเสนอแผนการเรียนอีก 5 นาที โดยสามารถใช้วิธีนำเสนอแบบใดก็ได้ โดยไม่ใช้  Power point ซึ่งเกณฑ์ในการตัดสินนั้นจะดูที่ “Passion” หรือความปรารถนาอย่างแรงกล้าของผู้สมัครเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือก

 ภาพที่ผู้เขียนได้รับเชิญไปบรรยาย แลกเปลี่ยนร่วมกับน้องๆ นักศึกษาในโครงการฯ

หลังจากผู้สมัครผ่านการคัดเลือกแล้วจะมีการอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ และมีการให้ความรู้เกี่ยวกับการเตรียมตัวเดินทาง โดยจะให้ผู้ผ่านการคัดเลือกมาเข้าค่ายอบรม จุดมุ่งหมายที่สำคัญประการหนึ่งคือการสร้างเครือข่ายนักเรียนนักศึกษา เพื่อนำเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้จากประเทศที่ตนไปศึกษากลับมาพัฒนาชุมชน สังคมและประเทศ

ผู้เขียนเคยได้รับเชิญจากคณะผู้จัดงานให้เป็นวิทยากรในการอบรมเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาโครงการนี้หลายครั้ง ได้มีโอกาสบอกเล่าถึงประสบการณ์การศึกษาในประเทศญี่ปุ่น การศึกษาภาษาระยะสั้นในไต้หวันและสิงคโปร์ พร้อมทั้งได้ร่วมแชร์เรื่องราวต่างๆ ที่พบเจอในระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวและการทำงานอาสาสมัครในต่างประเทศ มาบอกเล่าให้กับน้องๆ นักศึกษา ซึ่งทุกคนต่างให้ความสนใจในสิ่งที่ผู้เขียนได้บอกเล่า นับเป็นความทรงจำที่ดีอย่างหนึ่งที่ได้สัมผัสกับน้องๆ นักเรียนนักศึกษากลุ่มนี้ 

การทำกิจกรรมร่วมกันถือเป็นการเริ่มต้นการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งในอนาคต

ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลญี่ปุ่นมีแนวคิดที่แตกต่างออกไปจากการให้ทุนของที่อื่นๆ ดังต่อไปนี้  1. การระดมทุน โดยขอความร่วมมือและรับการสนับสนุนจากภาคเอกชนชั้นนำ และให้เอกชนเข้ามีบทบาท มีส่วนร่วมในคัดเลือกคนไปเรียน  ซึ่งภาคเอกชนให้ความสนใจ เห็นพ้องในแนวคิดการสร้างทรัพยากรบุคคลของรัฐบาล

ผู้เขียนมองว่าการที่รัฐบาลให้เอกชนได้เข้ามีบทบาทในการสนับสนุนทุนร่วมและคัดเลือกนักเรียนทุน นอกจากจะเป็นแสดงถึงแนวความคิดที่ว่า ทรัพยากรมนุษย์เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนของสังคมต้องร่วมกันสร้างแล้ว การสร้างเครือข่าย หรือ Community ของคนคุณภาพ หรือการสร้างองค์กรให้เข้มแข็งนั้นต้องอาศัย Know-How จากภาคเอกชน

2. การคัดเลือกผู้สมัครจากความตั้งใจจริง มีความปรารถนาอย่างแรงกล้า สามารถแสดงความกระหายใคร่รู้ในเรื่องที่ตนถนัดหรือสนใจให้โดนใจกรรมการที่ทำการคัดเลือก ประเด็นนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่า หากไม่มีผลการเรียนรับรองหรือมีคะแนนสอบข้อเขียน อะไรจะเป็นหลักฐานในการรับรองความเก่งและความสามารถของผู้สมัคร

ความจริงแล้วจากประสบการณ์ของผู้เขียนเอง การคัดเลือกลักษณะนี้คงต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของกรรมการผู้อ่านเอกสาร และกรรมการผู้สัมภาษณ์เป็นหลัก แต่โดยปกติแล้ว สำหรับคนที่มีทักษะในการสื่อสารที่ดี มีความเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี มีทักษะในการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น ย่อมสามารถบอกเล่าถึงความสามารถของตนเองผ่านประสบการณ์ที่ผ่านมาของตนได้อย่างดี โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานในเชิงตัวเลข เช่น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หรือคะแนนสอบมายืนยัน ซึ่งผู้เขียนมองว่าเป็นการคัดเลือกที่จะได้คนที่มีความสามารถที่แท้จริง 

3. การส่งเสริมให้ผู้ได้รับทุนได้เรียนตามความสนใจและตามความต้องการโดยไม่ได้เน้นเพื่อให้ได้ปริญญาหรือประกาศนียบัตรประการใด แต่เน้นเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตามความสนใจของผู้สมัคร ส่งเสริมความถนัด ความชำนาญในสิ่งที่ตนสนใจ การส่งเสริมให้ทุนคนหนุ่มสาวได้ไปเผชิญโลกกว้างที่ต่างประเทศ ต้องวางแผนการใช้ชีวิต การเรียน การทำกิจกรรมในช่วงเวลาที่ตนกำหนดเองในแผน ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับ  “Gap Year” ของนักศึกษาทางยุโรปหรืออเมริกา ที่พวกเขามักออกเดินทางท่องโลก หรือไปลองทำงานในสาขาที่กำลังคิดจะเรียนต่อด้านนั้น หรือไปทำงานอาสาสมัครที่ตนสนใจ

ในช่วงเวลานี้จะทำให้พวกเขาได้รู้จักกับตัวเองมากขึ้น รู้จักโลกมากขึ้น และกลับมาตัดสินใจเลือกเรียนในสาขาที่เหมาะกับตัวเองที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นทุนให้เปล่าที่ทำให้ความฝันและความตั้งใจของหลายคนกลายเป็นความจริง

สิ่งต่างๆ ที่ได้กล่าวข้างต้นนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการของการให้ทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ ซึ่งถ้าหากพิจารณาถึงเนื้อหาและผลสำเร็จตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา การให้ทุนในลักษณะนี้ถือว่ามีความสร้างสรรค์ คุ้มค่า และให้ประโยชน์ในการสร้างชาติในอนาคตอีกด้วย

จึงกล่าวได้ว่า ทุน “TOBITATE! NEXT JAPAN” นอกจากจะสานฝันให้คนหนุ่มสาวตื่นตัวในการออกไปเรียนรู้และเพิ่มพูนทักษะของตนในต่างประเทศแล้ว หากมองในระยะยาวทุนนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างคน และเป็นพลังจุดประกายให้เกิดบุคลากรที่มีความสามารถในสาขาต่างๆ และพวกเขาเหล่านั้นก็จะเติบโตเป็นทรัพยากรที่มีค่าของประเทศต่อไปในอนาคต

 

ภาพ Featured จาก http://fukui-asianfund.jp/student/tobitate/