คิโมจิ อี๊!! ในออนเซ็น : ส่องวัฒนธรรมการอาบน้ำแร่-Hadaka no Tsukiai เปลื้ยงผ้า เปิดอกคุยกัน!

2582

เรื่องโดย : ผศ.ดร.ณัฐธเดชน์ ชุ่มปลั่ง ภาควิชาสาธารณสุขศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ International University of Health and Welfare ประเทศญี่ปุ่น

ตอนนี้ญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวแบบจริงจังแล้ว ท่านใดที่กำลังจะบินมาเที่ยวญี่ปุ่นในช่วงนี้ ถ้าเป็นบริเวณเกาะฮอกไกโดหรือจังหวัดแถบฝั่งทะเลญี่ปุ่น เช่น จังหวัด Aomori  Akita หรือ Yamagata ก็จะมีโอกาสได้สัมผัสกับหิมะพร้อมกับบรรยากาศสุดโรแมนติกที่หลายๆ ท่านตั้งตารอ

หนึ่งในกิจกรรมที่ขาดไม่ได้ในการเดินทางมาญี่ปุ่นก็คือ การไปลองลงออนเซ็น สัมผัสกับวัฒนธรรมการแช่น้ำแร่แบบคนญี่ปุ่น ซึ่งผู้เขียนรับรองว่าประสบการณ์นี้จะสร้างความประทับใจให้กับท่านมิรู้ลืม

หลายท่านคงจะทราบดีว่า ญี่ปุ่นเป็นดินแดนแห่งภูเขาไฟ ผลจากการที่มีภูเขาไฟกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทำให้ญี่ปุ่นมีบ่อน้ำร้อนตามธรรมชาติอยู่กระจัดกระจายทั่วไป ซึ่งบ่อน้ำแร่ดังกล่าวนี้ถูกค้นพบและถูกใช้เป็นการแพทย์ทางเลือกในการรักษาโรคอย่างแพร่หลายมาตั้งแต่สมัยโบราณ

สืบย้อนไปได้ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 7 หรือราว 1,400 ปีก่อน ซึ่งหากเราอ้างอิงตามกฎหมายว่าด้วยเรื่องออนเซ็น หรือ 温泉法 (Hot Spring Law) ระบุว่า บ่อน้ำร้อนต้องมีอุณหภูมิสูงกว่า 25°C และต้องมีแร่ธาตุมากกว่า 1 ชนิดตามที่ระบุจาก 19 ชนิด เช่น โซเดียม แคลเซียม ฟลูออไรด์ โพแทสเซียม เป็นต้น

“ออนเซ็น” แบ่งออกเป็น 2  ชนิดตามแหล่งกำเนิด คือ 1. เกิดจากภูเขาไฟ และ 2. เกิดจากชั้นใต้ดินที่มีการเจือปนของซากดึกดำบรรพ์ ซึ่งสารเหล่านี้ล้วนเกิดจากการที่น้ำซึมผ่านชั้นของดินและหิน โดยจะมีแร่ธาตุต่างๆ สะสมปะปนอยู่จากกระบวนนี้ ทำให้น้ำที่ผุดหรือขุดสูบขึ้นมาจะมีส่วนผสมของแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย สามารถบรรเทาอาการปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ กระตุ้นให้การไหลเวียนโลหิตดีขึ้น  ช่วยขับสิ่งอุดตันใต้ผิวหนังและบำรุงผิวพรรณให้สดใส นอกจากนี้แล้วยังช่วยลดความเครียดทั้งร่างกายและจิตใจ ช่วยขยายหลอดเลือดทำให้ระบบเผาผลาญในร่างกายดีขึ้นด้วย

                                     แหล่งน้ำแร่ที่มีชื่อเสียงที่กระจายตามที่ต่างๆ ในญี่ปุ่น

 ภาพจาก http://web-japan.org/nipponia/nipponia26/en/feature/feature12.html

ญี่ปุ่นมีออนเซ็นกระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 3,000 แห่ง และมีแหล่งออนเซ็นที่มีชื่อเสียงติดระดับ Top 10 ของประเทศ เช่น Hakone Yumoto Onsen, Atami Onsen, Arima Onsen เป็นต้น นอกจากนี้ ออนเซ็นยังมีรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งแบบที่ตั้งอยู่ภายในอาคาร กลางแจ้ง มีทั้งแบบบ่อที่ทำจากไม้หรือหิน หรืออาจอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เช่นตั้งอยู่ในหุบเขา ข้างแม่น้ำหรือทะเลสาบ ทำให้ขณะแช่น้ำร้อน เราจะได้สัมผัสบรรยากาศอันสวยงามของธรรมชาติไปด้วย

โดยปกติระดับความร้อนของออนเซ็นตามสถานบริการทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 40-44 องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิที่ว่ากันว่าแช่แล้วสบายที่สุดคือ 42 องศา ซึ่งความร้อนในระดับนี้นับว่าเป็นประโยชน์มากสำหรับคนปกติ เพราะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายมีความผ่อนคลาย โลหิตหมุนเวียนดีขึ้น ดังนั้น เพื่อให้ท่านได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องถึงวิธีการปฏิบัติเมื่อได้มาลงออนเซ็น จึงขอสรุปคร่าวๆ เป็นขั้นตอนดังนี้

 ภาพจาก http://www.honjinhiranoya.jp/honjin-hiranoya-onsen/how-to-take-a-japanese-bath.htm

ขั้นตอนการลงออนเซ็นที่ถูกต้อง

  1. เตรียมตัว

เมื่อเข้าไปใช้บริการอาบน้ำแร่แช่ออนเซ็น ถ้าเป็นออนเซ็นขนาดใหญ่ จะได้ผ้ามา 3 อย่าง คือ ชุดยูกะตะ สำหรับเปลี่ยนก่อนลงหรือใส่ลำลองหลังขึ้นจากออนเซ็น, ผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่ และผ้าเช็ดตัวผืนเล็ก ถ้าเป็นออนเซ็นขนาดกลางหรือขนาดเล็ก จะมีบริการจำหน่ายผ้าเช็ดตัวในกรณีที่ไม่ได้เตรียมไป แต่โดยปกติแล้วคนญี่ปุ่นจะเตรียมไปเอง เมื่อถึงภายในบริเวณออนเซ็น (มีแยกหญิง-ชาย) จะมีบริเวณตู้ล็อกเกอร์และบริเวณช่องสำหรับเก็บเสื้อผ้า ซึ่งอาจจะเป็นล็อกเกอร์หรือเป็นตะกร้า ขึ้นอยู่กับสถานที่

บริเวณที่ล้างตัวก่อนลงออนเซ็น

ภาพจาก http

://www.thecutlerychronicles.com/2014/10/japan-onsen-etiquette-how-to-take-html/

  1. ข้อปฏิบัติก่อนลง

เมื่อเข้าไปถึงด้านในส่วนของออนเซ็น จะมีที่อาบน้ำสำหรับล้างตัวก่อนลง โดยส่วนใหญ่จะมีเก้าอี้และถังใส่น้ำเล็กๆ วางไว้สำหรับนั่งชำระล้างร่างกาย บริเวณที่นั่งใกล้ๆ จะมีสบู่เหลวและแชมพูวางไว้ให้บริการ การชำระร่างกายด้วยน้ำร้อนเป็นเหมือนการเตรียมพร้อมร่างกายสำหรับ ออนเซ็น เพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัวให้ชินกับน้ำร้อน การราดน้ำร้อนควรเริ่มจากมือและปลายเท้า  ขึ้นมาสู่แขนและขา จากนั้นจึงเป็นลำตัวและศีรษะ ตามลำดับ

  1. ระหว่างลง

เมื่ออาบน้ำสระผมเสร็จแล้วก็ให้เดินลงบ่อออนเซ็น โดยค่อยๆ ย่อตัวลงไปทีละนิด เริ่มแช่จากระดับข้อเท้าก่อน จึงค่อยไล่ขึ้นมาที่หัวเข่าจนมาถึงหน้าอก และแช่ตัวลงในน้ำจนถึงระดับไหล่ คุณสามารถพิงศีรษะกับขอบบ่อน้ำร้อนแล้วปล่อยให้ร่างกายลอยอยู่ในน้ำได้ นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวมือในน้ำยังช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีอีกด้วย

ข้อควรระวังคือ อย่าลงไปทั้งตัวเลยทีเดียว ควรให้ร่างกายค่อยๆ ปรับตัว ท่านสามารถนำผ้าผืนน้อยที่เตรียมมาชุบน้ำแล้วนำมาโปะไว้ที่หัวหรือหน้าผาก แต่ห้ามบิดน้ำทิ้งลงไปในบ่อเด็ดขาด หลังจากนั้นก็แช่น้ำให้เย็นใจ สลับกับการไปอาบน้ำแร่ในบ่ออื่นไปเรื่อยๆ โดยปกติคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะแช่ครั้งละประมาณ 10-15 นาที แล้วจึงขึ้นมาพัก ก่อนจะลงต่อ โดยอาจจะสลับบ่อ แช่ต่อไปอีก 1-2 ครั้ง แล้วจึงขึ้นจากบ่อน้ำร้อนโดยไม่ต้องล้างตัว

หลังจากเสร็จสิ้นจากการแช่ออนเซ็นแล้วก็ใช้ผ้าที่เตรียมมาเช็ดตัวให้แห้ง แล้วจึงเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย ควรพักผ่อนและดื่มน้ำให้มากๆ  สารต่างๆ และความอุ่นจากน้ำแร่ จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นมากๆ และมีแรงเที่ยวในวันต่อไปอย่างแน่นอน

อะไรคือวัฒนธรรม Hadaka no Tsukiai (裸の付き合い) ?

การได้พูดคุยกันในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ถือเป็นเสน่ห์ของการลงออนเซ็นในอีกแบบหนึ่ง

ภาพจาก https://asiavacations.info/places-to-see/sapporo-jozankei-onsen.html 

ในเรื่องของวัฒนธรรมการแช่น้ำแร่ หรือการใช้บริการที่อาบนํ้ารวมสาธารณะที่ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า เซ็นโต(銭湯)ผู้เขียนจำได้ว่า ที่ญี่ปุ่นมีคำพูดอยู่คำพูดหนึ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นคือ Hadaka no Tsukiai แปลตรงตัวว่า การได้พูดคุยกัน พบปะกัน ในสภาพเปลือย หรือพูดสั้นๆ ว่า แก้ผ้าคุยกัน หรือการพบปะแลกเปลี่ยนกันโดยคนมากกว่าสองคน มาคุยกันแบบเปิดอก ไม่มีอะไรต้องปิดบังกัน สามารถพูดกันได้ทุกเรื่องในออนเซ็น หรือที่อาบน้ำสาธารณะ

ยกตัวอย่างเช่น คนในที่ทํางานที่ไม่ได้คุยกัน หากมีอะไรเก็บเอาไว้ในใจก็สามารถเปลื้องผ้าเปิดอกพูดจาได้อย่างเปิดเผย โดยไม่ต้องกลัวและไม่ต้องอายที่จะพูด ซึ่งผู้เขียนมองว่าเป็นวัฒนธรรมที่น่าสนใจ ทำให้เราปลดทิฐิมานะของตนลงไปพร้อมกับการถอดเสื้อผ้าและเปิดอกพูดคุยกันด้วยบรรยากาศที่ผ่อนคลาย

สำหรับคนไทยวัฒนธรรมในการเปลือยแบบคนญี่ปุ่นตามที่กล่าวมาข้างต้นนี้อาจจะไม่คุ้นเคยและอาจจะรู้สึกเขินอายบ้าง แต่สำหรับคนญี่ปุ่นแล้ว การเปลื้องผ้าอาบน้ำร่วมกันจะไม่มีการแสดงความเหนียมอายแต่ประการใด เพราะคุ้นเคยจากการปฏิบัติที่สืบเนื่องกันมาแต่เดิม

อย่างไรก็ดี การเปลื้องผ้าแช่น้ำในบ่อเดียวกันอาจจะเป็นประสบการณ์ครั้งแรกและเป็นเรื่องท้าทายสำหรับหลายๆ คน ครั้งแรกจะเป็นครั้งที่ต้องการความกล้าหาญมากที่สุด แต่พอมีครั้งที่สอง ก็จะมีครั้งที่สาม  ความกล้าก็จะเปลี่ยนเป็นความเคยชินและความคุ้นเคย ยิ่งถ้าเราได้ไปกับกลุ่มเพื่อนหลายๆ คน ก็จะกลายเป็นความสนุกและความอยากรู้อยากเห็นแทน …..(อันนี้ไม่ลองก็ไม่รู้)

ประเทศญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมการแช่น้ำแร่มาอย่างยาวนาน การลงออนเซ็นถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของชาวญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ เพราะออนเซ็นมีศักยภาพในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บและความเมื่อยล้าของร่างกายและจิตใจ

สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ การอาบน้ำแร่ในออนเซ็นถือเป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่ควรสัมผัสสักครั้งเมื่อเดินทางมาเที่ยวญี่ปุ่น ซึ่งความจริงแล้วไม่จำกัดแต่ในฤดูหนาวเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ในฤดูกาลอื่นๆ ก็สามารถใช้บริการได้ด้วยเช่นกัน เพราะนอกจากประโยชน์ที่ท่านจะได้รับในเชิงการบำบัดรักษาแล้ว ยังสามารถสัมผัสกับประสบการณ์ Kimochi ii ในแบบคนญี่ปุ่น

ท่านใดที่กำลังวางแผนจะมาเที่ยวญี่ปุ่น ก็อยากให้มาลองลงออนเซ็นกัน และอย่าได้เขินอาย ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งสำคัญคือ การทำให้ถูกต้องตามมารยาทและธรรมเนียม เพื่อที่จะได้รับความรู้สึกแบบต้นตำรับ และได้รับประโยชน์จากการลงออนเซ็นกันอย่างเต็มที่