คิดไกลให้เหนือเมฆ อินเด็กซ์ ครีเอทีฟฯ คิดที่ไทย ขายสู่ตลาดโลก

1653

ย้อนหลังไปเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว หนึ่งในเครื่องมือทางการตลาดที่ได้รับความนิยมสูงสุด และได้รับการยกย่องว่าประเทศไทยเป็นเจ้าแห่งการครีเอทีฟของเครื่องมือการตลาดนี้ระดับแนวหน้าของเอเซีย คือ อีเวนท์ ที่แบรนด์ใหญ่ๆ แทบทุกธุรกิจต้องจ้างออแกไนซ์ บริษัทอีเวนท์ คิดค้นอีเวนท์ที่จะทำให้แบรนด์เป็นที่กล่าวถึง อย่างการสร้างแคทวอล์กยาวเหยียดหน้าศูนย์การค้า  การปีนอาคารลงมาเปิดการขายหุ้น  หรือการใช้มัลติมีเดียโชว์ความอลังการของแบรนด์

แต่ความเปลี่ยนแปลงของเทรนด์การตลาด พฤติกรรมผู้คนที่เปลี่ยนไปจากการเติบโตของคนในเจนเนอเรชั่นใหม่ อีกทั้งเครื่องมือทางการตลาดที่หันไปใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น รวมถึงเม็ดเงินจากลูกค้าที่ควักยากขึ้น ทำให้อีเวนท์กลายเป็นงานย่อยๆ ที่จะหาคนลงทุนสร้างงานใหญ่ๆ เป็นทอล์ค ออฟ เดอะทาวน์ เหมือนในอดีตไม่มีอีกแล้ว

บริษัทยักษ์ใหญ่ของวงการอีเวนท์ไทย อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ ที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับการยอมรับในการเป็นผู้สร้างสรรค์งานอีเวนท์ที่ใหญ่ติดอันดับ 7 ของโลก มีผลงานไปไกลทั่วเอเชียถึงทั่วโลก ก็ยังต้องปรับทิศทางธุรกิจ

เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) มองว่า ธุรกิจอีเวนท์ถือเป็นธุรกิจที่ความผันผวนมาก ตลาดรวมที่มีมูลค่าราว 12,500 ล้านบาท ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาตกลงมาโดยตลอด เพราะธุรกิจอีเวนท์เป็นเรื่องอ่อนไหวกับทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ทางการเมือง เหตุการณ์ความเศร้าเสียใจของคนไทยทั้งประเทศ  รวมไปถึงความซบเซาทางเศรษฐกิจ สิ่งแรกที่จะได้รับผลกระทบคือ การจัดอีเวนท์ที่จะถูกยกเลิกไปเป็นลำดับแรกๆ

วันนี้ อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ  จึงสร้างสมคุลกระจายความเสี่ยง ออกไปเป็น 3 กลุ่มธุรกิจหลัก  คือ

กลุ่มธุรกิจครีเอทีฟ บิซซิเนส ดีเวลลอปเมนท์ ให้บริการด้านการพัฒนาแบรนด์ดิ้ง การสร้างประสบการณ์พิเศษ สู่การสร้างมูลค่าในรูปแบบของแหล่งท่องเที่ยว

กลุ่มธุรกิจมาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิส  ให้บริการด้านการวางแผน วางกลยุทธ์ และให้คำปรึกษาด้านการตลาดต่างๆ

กลุ่มธุรกิจ ไอ-โปรเจค  ให้บริการสร้างสรรค์คงานโปรเจคพิเศษ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

โดยกลุ่มธุรกิจที่ผู้ก่อตั้ง และผู้บริหารอินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ  ให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษตั้งแต่ปีนี้ไป คือ กลุ่มธุรกิจไอ-โปรเจค เพราะแม้วันนี้สัดส่วนรายได้หลักของบริษัทจะมาจาก 2 กลุ่มแรก  คือกลุ่มครีเอทีฟ บิซซิเนสฯ ทำรายได้ในปีนี้ 34%  ขณะที่กลุ่มมาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิส ทำรายได้มากถึง 61% เหลือเพียง 5% เป็นรายได้จากกลุ่มธุรกิจไอ-โปรเจค แต่งานเกือบทั้งหมดของ 2 ธุรกิจแรก ล้วนเป็นงานตามคำสั่งลูกค้า หรือทำตามออเดอร์ ที่ก็อาจประสบภาวะผันผวนจากเหตุการณ์บ้านเมือง หรือเศรษฐกิจทั้งสิ้น แตกต่างจากไอ-โปรเจค ที่โครงการต่างๆ ภายในธุรกิจเป็นการคิดขึ้นเอง เป็น Own Event  ทำตลาดเอง และที่สำคัญคือการนำโครงการเหล่านี้ไปหาตลาดใหม่ๆ ในต่างประเทศได้ด้วย

ที่ผ่านมา ไอ-โปรเจคก็เริ่มต้นกับการทำโครงการในประเทศเป็นส่วนใหญ่  ตั้งแต่งานด้านโชว์บิซ   เช่น มิวสิคเฟสติวัล  ไลฟ์โชว์  งานด้านการศึกษา  เช่น การจัดงานสัมมนา งานเวิร์คช้อป   งานด้านซีซันนัล แอนด์ เฟสทีฟ เป็นงานระดับอินเตอร์เนชั่นแนลที่มีเป้าหมายดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกเข้ามา เช่น ไลฟ์ เฟสติวัล หรือสปอร์ต เฟสติวัล และงานด้านบิซซิเนส ออพพทูนิตี้ เป็นศูนย์กลางสร้างโอกาสทางธุรกิจ เช่น งานเอ็กซ์คลูซีฟ บิซซิเนสทัวร์  หรืองานเทรดแฟร์

เกรียงไกร มองว่า วันนี้โลกทั้งโลกถูกเชื่อมโยงกันด้วยออนไลน์ เทรนด์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากมุมหนึ่งของโลก ก็สามารถส่งต่อไปถึงอีกมุมโลกในเวลารวดเร็ว และหนึ่งเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกในเวลานี้ คือ “เทรนด์การรักสุขภาพ” ที่ทำให้ผู้คนออกมาปั่นจักรยาน หรือวิ่งออกกำลังกาย

“กระแสรักสุขภาพกลายเป็นเทรนด์ที่มีมาสักพักใหญ่ รวมถึงการวิ่งออกกำลังกายที่ถือเป็นไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเอาชนะตัวเอง มีสุขภาพที่ดีขึ้น มีความสุข มีประสบการณ์ใหม่ๆ ได้อวด และแชร์รูปตัวเองลงโซเชียล ทำให้วงการวิ่งเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีงานวิ่งแทบทุกสัปดาห์ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมานี้ โดยอัตราการเติบโตของนักวิ่งทั่วโลกก็เพิ่มขึ้นถึง  13.25% รวมถึงในภูมิภาคเอเชียเอง ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูงมากถึง 92.43%  ซึ่งเมื่อเทียบกับอเมริกา และยุโรป นับว่าจำนวนนักวิ่งของเอเชียเติบโตสูงสุด และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

โดยเทรนด์กการรักสุขภาพด้วยการวิ่งเหล่านี้ เมื่อวิเคราะห์ลึกลงไป พบว่าในโลกของการวิ่งไม่ได้มีเพียงนักวิ่งที่วิ่งจริงจังตามงานมาราธอนเพียงอย่างเดียว แต่จำนวนนักวิ่งส่วนใหญ่ก็มาจากคนที่ชอบออกกำลังกาย อยากมีสุขภาพที่ดีด้วย โดยเฉพาะกลุ่มคนช่วงอายุ 25-44 ปี ซึ่งถือเป็นนักวิ่งที่มีประสิทธิภาพ ตอบรับงานวิ่งที่หลากหลาย และชอบการท่องเที่ยว หาประสบการณ์ใหม่ที่ได้ทั้งสุขภาพ และความสนุกไปพร้อมกัน

อินเด็กซ์ฯ จึงคิด Own Event ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์เหล่านักวิ่ง นำเทรนด์การออกกำลังจาก ผนวกกับเทรนด์ Food &Drink ที่ฮอตฮิตกันอยู่โดยเฉพาะในเอเชีย จัดงานวิ่งที่สร้างความแตกต่าง สร้างสรรค์ปรากฏการณ์รูปแบบใหม่ของการวิ่ง ที่เน้นไลฟ์สไตล์ กิน วิ่ง เที่ยว กับมหกรรมงานวิ่งยุค 2018  ‘KILORUN’  เทศกาลงานวิ่งของคนรักอาหาร ความสนุก เพื่อน และครอบครัว (Running Festival of food, fun, friends and family) งานวิ่งที่ไม่ได้วัดผลเพียงแค่กิโลเมตร (ระยะทาง) แต่มีการวัดผลด้วยกิโลกรัม (น้ำหนัก) ควบคู่ไปด้วย ไฮไลท์ของงานวิ่งครั้งนี้คือ การคัดเลือกเส้นทางวิ่งที่เป็นเมืองไอคอนนิกที่น่าสนใจ คัดเลือกอาหารที่เป็น Signature รสเลิศของแต่ละประเทศพร้อมเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับนักวิ่งทั่วโลกร่วมกัน ครอบคลุมประเทศสำคัญทั่วภูมิภาคเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย

ก่อนหน้าที่จะเกิดเป็นอีเวนท์ KILORUN อินเด็กซ์ฯ เคยหาประสบการณ์กับการจัดอีเวนท์วิ่งฮอยอัน อินเตอร์เนชั่นแนล มาราธอน 2017 ณ ประเทศเวียดนาม เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศ และต่างประเทศได้ถึง 700 คน จาก 10 ประเทศ  สร้างชื่อเสียงให้กับเมืองฮอยอัน ซึ่งจะนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของเวียดนามให้เติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต

ดังนั้น KILORUN  จึงเป็นอีเวนท์ที่พัฒนาต่อมา โดยการผนวกเรื่องของอาหารเด่นดังพื้นที่ที่ใช้วิ่ง เช่นในโครงการแรกที่จะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ  ในช่วงเดือนมีนาคม 2561  นอกจากการแข่งวันวิ่งรอบเกาะรัตนโกสินทร์  ที่มีสถานที่ประวัติศาสตร์น่าสนใจตลอด 2 ข้างทางแล้ว  ยังเป็นศูนย์รวมของคาราวานอาหารชั้นนำ อาทิ ไข่กระทะโกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ ลั่นฟ้าข้าวมันไก่เบตง ราดหน้ายอดผักศาลเจ้าพ่อเสือ หมี่กรอบโชติจิตร เผือกหิมะเจ๊นี มนต์นมสด ฯลฯ ที่เกรียงไกรเชื่อว่าจะสามารถดึงดูดทั้งนักวิ่ง และนักชิม ได้จากทั้งในเมืองไทย และต่างประเทศได้อย่างแน่นอน

นอกจากนั้นตามแผนการในปี 2561 ก็จะมีการจัดในต่างประเทศอีก 3 เมืองสำคัญ คือบาหลี อินโดนีเซีย ในเดือนพฤษภาคม, โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนมิถุนายน และ ฮานอย เวียดนามในเดือนสิงหาคม ที่ทั้ง 3 เมือง ล้วนมีแลนด์มาร์กที่สวยงาม และมีอาหารท้องถิ่นที่สุดยอดทั้งสิ้น

เกรียงไกรกล่าวว่า  KILORUN ไม่ใช่โครงการที่จะมุ่งคนไทยเป็นหลัก แต่ต้องการจะขายให้กับนักวิ่ง นักชิม และนักท่องเที่ยวทั่วโลก เป็นอีเวนท์ที่แยกกันระหว่างการวิ่งในระยะสั้นผ่านจุดแลนด์มาร์กของเมือง 5-21 กิโลเมตร อยู่ในช่วงเช้า และการกินร้านอาหารดังในเส้นทางนั้น จะอยู่ในช่วงเย็น ทำให้สามารถดึงกลุ่มเป้าหมายได้ทั้งนักวิ่ง กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มเพื่อน ไปจนถึงกลุ่มครอบครัว ที่สามารถเลือกสมัครได้ทั้งเฉพาะการวิ่ง  หรือเฉพาะการกิน หรือสมัครทั้ง 2 รายการ คาดว่าโครงการแรกที่กรุงเทพฯ จะมีผู้เข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 1,500 คน  โดยกลุ่มเป้าหมายจะเป็นคนไทย 30% ชาวต่างประเทศ 70%

สำหรับโครงการในต่างประเทศ ทั้งบาหลี , โอซาก้า และฮานอย  อินเด็กซ์ฯ จะมีให้บริการแก่ผู้สมัครทุกรูปแบบ ทั้งการจองตั๋วเครื่องบิน จองโรงแรม  หากผู้สมัครต้องการความสะดวกในการร่วมกิจกรรม หรือจะเดินทางเอง หาที่พักเอง ก็สามารถทำได้  ซึ่งหากแผนงานในปี 2561 ทั้ง 4 เมืองนี้ประสบความสำเร็จ ก็มีโอกาสที่อินเด็กซ์ฯ จะพัฒนาต่อไปให้เป็นอีเวนท์ระดับโลก เดินทางไปวิ่งและกินที่นิวยอร์ก หรือลอนดอนได้ในอนาคต

เกรียงไกรกล่าวว่า กลยุทธ์การขยายงานรูปแบบของธุรกิจอีเว้นท์ และการสร้างงานในลักษณะโอน อีเว้นท์ (Own Event) ที่สร้างขึ้นจากเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกนี้ ทำให้บริษัทฯ สามารถสร้างรายได้จากต่างประเทศให้เป็นช่องทางรายได้หลักอีกทาง  และจะทำให้สัดส่วนธุรกิจของอินเด็กซ์ฯ ด้าน I-Project ในปี 2561 คาดการณ์ว่าจะเติบโตขึ้นมากกว่า 79% คิดเป็นมูลค่า 127.05  ล้านบาท จากรายได้รวมของอินเด็กซ์ ฯ 1,500 ล้านบาท

“วันนี้เราต้องการสร้างการเติบโตแบบยั่งยืนให้กับอินเด็กซ์ฯ ไม่ใช่การเติบโตแบบหวือหวาชั่วคราวเหมือนในอดีต การมุ่งทำ Own Event ที่มองเทรนด์ของโลกเป็นหลัก คือแนวทางที่จะสร้างมากขึ้น  ธุรกิจอีเวนท์เคยถูกดิจิทัลคุกคามมาก่อน แต่ผมมองว่าหากเราใช้ดิจิทัลให้เป็น ก็จะเป็นโอกาสที่จะสร้างโครงการใหม่ๆ ธุรกิจใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้ ทำให้เราสามารถมองตลาดเป้าหมายได้กว้างขึ้น ไปหารายได้จากประเทศที่มีการเติบโตมากกว่า มีประชากรมากกว่า มีกำลังซื้อมากกว่า”

“เพราะถ้าวันนี้ยังมองแบบเดิม แข่งกันอยู่ในประเทศ คงต้องเหนื่อยกันต่อไปแน่นอน”  เกรียงไกรกล่าว