นักท่องเที่ยวเตรียมช็อค! ญี่ปุ่นเล็งเก็บ “ภาษีส่งเสริมการท่องเที่ยว” ขาออก คาดประกาศใช้ปี 2019

2220

เรื่องโดย : ผศ.ดร. ณัฐธเดชน์ ชุ่มปลั่ง ภาควิชาสาธารณสุขศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์  International University of Health and Welfare ประเทศญี่ปุ่น

สืบเนื่องจากวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ประเทศญี่ปุ่นได้มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับผลการประชุมโดยผู้ทรงคุณวุฒิของทบวงการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่นว่า ขณะนี้กำลังมีการดำเนินการเพื่อเตรียมจัดเก็บภาษีในการเดินทางออกนอกประเทศ โดยมีแนวคิดที่เห็นพ้องกันในการเปลี่ยนชื่อจากชื่อเดิม “ภาษีออกนอกประเทศ (出国税)” เป็น “ภาษีเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยว (観光復興税)

จาก https://news.biglobe.ne.jp/domestic/1109/kyo_171109_8673746469.html

ทั้งนี้ เพื่อนำเงินภาษีที่จัดเก็บได้มาจัดสรรเป็นงบในการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยแผนดังกล่าวนี้มีกำหนดเริ่มบังคับใช้ภายในปี 2019 หรือปี 2562 ก่อนจะมีการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกและพาราลิมปิก โดยจะบวกเพิ่มไปกับราคาค่าโดยสารเครื่องบิน ซึ่งจะอยู่ภายในอัตราไม่เกิน 1000 เยน

นับตั้งแต่รัฐบาลภายใต้การนำของนายชินโซ อาเบะ เข้ามาบริหารประเทศ ได้ตั้งเป้าหมายในการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เพิ่มมากขึ้นถึง 40 ล้านคนภายในปี 2020

โดยที่ผ่านมาได้มีการพิจารณาผ่อนปรนกฎระเบียบการตรวจลงตราให้แก่คนในประเทศแถบเอเชียมากขึ้น โดยมีการยกเว้นวีซ่าท่องเที่ยวสำหรับประเทศในเอเชียในหลายๆ ประเทศ

กราฟแสดงอัตรานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในญี่ปุ่นในระยะ 3-4 ปีที่ผ่ามมา มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าสถิติเดิมของปีที่ผ่านมา ข้อมูลจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Tourism_in_Japan

จากการดำเนินนโยบายดังกล่าวเป็นผลให้ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 20% ต่อปี โดยตัวเลขของทบวงการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่นระบุว่า มีการเดินทางออกนอกญี่ปุ่นถึง 60 ล้านครั้งในปี 2559 โดย 40% เป็นนักเที่ยวชาวต่างชาติ หากภาษีประเภทนี้มีการบังคับใช้ ญี่ปุ่นจะมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 40,000 ล้านเยน หรือราว 1.1 หมื่นล้านบาทต่อปี

คิดเป็นสองเท่าของงบประมาณเพื่อสนับสนุนท่องเที่ยวญี่ปุ่นในแต่ละปีที่ผ่านมาเลยทีเดียว

โดยในปี 2561 ทบวงการท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นได้ตั้งงบประมาณเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว 24,700 ล้านเยน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 17%

การจัดเก็บภาษีในลักษณะนี้จะทำให้ญี่ปุ่นมีงบมาพัฒนาสาธารณูปโภคด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น และใช้ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวญี่ปุ่นทั้งภายในและภายนอกได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวนี้ยังเป็นที่กังขาและเกิดข้อสงสัยในหมู่ประชาชนว่า เงินภาษีที่จัดเก็บได้อาจถูกนำไปใช้ประโยชน์ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ตามที่รัฐบาลได้แถลงไว้

แน่นอนว่า แนวคิดในการเก็บภาษีดังกล่าวนี้ มีเสียงคัดค้านจากผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวและสายการบิน เพราะนอกจากจะทำให้ค่าตั๋วโดยสารมีราคาแพงขึ้นแล้ว ในปี 2562  ประเทศญี่ปุ่นยังจะมีการจัดเก็บภาษีผู้บริโภคเพิ่มจาก 8% เป็น 10% ซึ่งจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาต้องเสียค่าท่องเที่ยวในญี่ปุ่นแพงขึ้นตามไปด้วย

การเก็บภาษีประเภทนี้จึงนับว่าเป็นการเพิ่มภาระให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะนำเงินภาษีที่ได้ไปใช้ในการกระตุ้นและโปรโมทการท่องเที่ยวญี่ปุ่นในต่างประเทศก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากเพียงใด

ภาพจากข่าวสำนักข่าว ANA  การนำเสนอเรื่องการจัดเก็บภาษี

ไม่เพียงแต่จะยังเป็นข้อถกเถียงและสร้างความคลางแคลงใจให้กับประชาชนในประเทศเท่านั้น  ในส่วนของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางไปท่องเที่ยวญี่ปุ่นก็จะได้รับผลกระทบนี้ไปด้วย

โดยส่วนตัวผู้เขียนมองว่า ตอนนี้รัฐบาลญี่ปุ่นอยู่ในภาวะฝืดเคืองในการหางบประมาณและจัดสรรงบด้านประกันสังคม จึงต้องทำทุกวิถีทางในการเพิ่มงบประมาณให้ได้ แต่ในการเพิ่มภาษีสำหรับคนเดินทางออกนอกประเทศ โดยอ้างเหตุผลในการนำเงินภาษีกลับมาพัฒนาการท่องเที่ยวนั้น ต้องพิจารณาว่ารัฐบาลอธิบายเหตุผลและมีหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอที่จะแสดงให้ประชาชนเข้าใจหรือไม่

ในอดีต Adam Smith นักเศรษฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงชาวอังกฤษ ซึ่งถือเป็นบิดาแห่งภาษีอากรได้กล่าวไว้ในหนังสือ The Wealth of Nation เมื่อปี ค.ศ. 1776 ว่า หลักการจัดเก็บภาษีอากรนั้นจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์สำคัญ 4 ประการ หรือที่เรียกว่า Adam Smith’s Canons ซึ่งหากจะเอาเรื่องของภาษีฟื้นฟูการท่องเที่ยวมาวิเคราะห์ประกอบด้วยเราต้องมองว่า 1. ภาษีที่จัดเก็บนั้นก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เสียภาษีหรือไม่ 2. ระบบการจัดเก็บภาษีต้องมีกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บให้รัดกุมและแน่นอน 3. การจัดเก็บภาษีต้องอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เสียภาษีมากที่สุดหรือมไม่ อย่างไร และ 4. ต้องถือหลักจัดเก็บในอัตราต่ำแต่เก็บได้มากและทั่วถึง

ดังนั้น หากรัฐบาลเตรียมความพร้อมตามหลักการที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว เชื่อแน่ว่าประชาชนจะให้การยอมรับ และให้ความร่วมมืออย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี ท่านที่ชื่นชอบและวางแผนการท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นอาจต้องเตรียมงบประมาณสำหรับการเดินทางเพิ่มขึ้น และเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเรื่องของกฎระเบียบและเรื่องภาษี ก่อนจะมีการจัดการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกในปี 2020 เพื่อประโยชน์ของตัวท่านเองในอนาคต

 

 

ขอบคุณภาพ Featured จาก hen228.com