จับตา! การเยือนเอเชียครั้งแรกของ “โดนัลด์ ทรัมป์” กับความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-อเมริกา

1967

เรื่องโดย : ผศ.ดร.ณัฐธเดชน์ ชุ่มปลั่ง ภาควิชาสาธารณสุขศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ International University of Health and Welfare ประเทศญี่ปุ่น

ในเดือนพฤศจิกายนนี้ นับเป็นช่วงเวลาที่น่าจับตามองถึงความเคลื่อนไหวของประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” แห่งสหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยภริยาในการเดินทางเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับประเทศในกลุ่มเอเชีย

ซึ่งขณะนี้ประธานาธิปดีทรัมป์อยู่ระหว่างการเยือนประเทศต่างๆ ในโซนเอเชียตะวันออก เริ่มจาก ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน โดยประเด็นหลักที่ “ทรัมป์” จะนำมาหารือกับรัฐบาลทั้ง 3 ประเทศ คือ การแสวงหาความร่วมมือเพื่อหยุดยั้งภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ

หลังจากนั้น ทรัมป์จะเข้าร่วม การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียและแปซิฟิก หรือ เอเปค ซึ่งจะจัดขึ้นที่เมือง “ดานัง” ประเทศเวียดนาม ในวันที่ 10-11 พฤศจิกายนนี้ ก่อนจะปิดท้ายภารกิจเยือนเอเชียด้วยการเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ “กรุงมะนิลา” ประเทศฟิลิปปินส์ในวันที่ 13-14 พฤศจิกายนนี้

กำหนดการเดินทางของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ภาพจาก
https://www.afp.com/en/news/23/trump-opens-door-n-korea-talks-asia-trip-begins-earnest

สำหรับการเดินทางเยือนประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกครั้งนี้ถูกจับตามองเป็นพิเศษจากสื่อทั่วโลกว่า ทรัมป์จะกล่าวและแสดงบทบาทในฐานะผู้นำประเทศในแต่ละประเทศอย่างไร

แน่นอนว่าการเดินทางของทรัมป์ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรทางการทหารมาอย่างยาวนานอย่างญี่ปุ่นและเกาหลี เพื่อหวังจะให้เกาหลีเหนือปลอดอาวุธนิวเคลียร์แล้ว ทรัมป์ยังมีจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมและผลักดันแนวคิด “อินโด-แปซิฟิก ที่เสรีและเปิดกว้าง” (Free and Open Indo-Pacific) และมิติในเชิงพาณิชย์ ด้วยวิธีการทางการค้าและการลงทุนที่เป็นธรรมและต่างตอบแทน เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เติบโตและขยายตัวมากยิ่งขึ้น

ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวนี้เป็นกรอบการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยสหรัฐฯ เข้ามามีบทบาทแผ่อิทธิพลในเชิงการค้า การลงทุนมากขึ้น โดยจะประสานให้มหาอำนาจเศรษฐกิจแห่งเอเชียแปซิฟิกอย่างญี่ปุ่น ออสเตรเลีย กลุ่มประเทศอาเซียน ได้ผนึกเข้ากับอินเดีย มหาอำนาจเอเชียใต้

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้ได้ถูกจับตามองจากหลายฝ่ายว่า เป็นการแสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ มีแนวคิดที่ทัดทานอำนาจต่อการขยายอิทธิพลของจีนที่กำลังผลักดันความร่วมมือ “นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” หรือ One Belt One Road ซึ่งกำลังเดินหน้าอย่างเข้มข้น

จึงต้องจับตาดูต่อไปว่า ในการประชุมเอเปคที่กำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 10 พฤศจิกายนนี้ “ทรัมป์” จะแสดงบทบาทในเวทีโลกอย่างไร

ภาพจาก https://jp.usembassy.gov/

ทันทีที่เครื่องบินลงจอดที่ฐานทัพอากาศโยโกตะของสหรัฐฯ ใกล้จังหวัดคานากาวะ ไม่ห่างจากกรุงโตเกียว ประธานาธิบดีทรัมป์ได้แวะเยี่ยมทหารสหรัฐฯที่ประจำการอยู่ที่นี่ พร้อมให้คำมั่นเพื่อปลุกขวัญและให้กำลังใจเหล่าทหารว่า “ไม่มีผู้ใด ไม่มีเผด็จการใด และไม่มีระบอบการปกครองใดที่จะประเมินการแก้ปัญหาของสหรัฐฯ ต่ำเกินไป” 

นี่คือคำกล่าวที่เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญอันเป็นการยืนยันว่า กองทัพของสหรัฐฯมีศักยภาพเพียงพอที่จะรักษาความสงบสุขและปกป้องเสรีภาพในภูมิภาคนี้ได้ ท่ามกลางความตึงเครียดที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือจากโครงการทดสอบขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์

การแถลงการณ์ร่วมกันระหว่างประธานาธิปดีทรัมป์และนายกฯอาเบะ

ภาพจาก https://jp.usembassy.gov/

หลังจากนั้นประธานธิปดีทรัมป์ก็ได้เข้าพบนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นและรับประทานอาหารร่วมกันก่อนที่ผู้นำทั้งสองจะไปออกรอบตีกอล์ฟกระชับมิตรตลอดจนมีการประชุมหารือร่วมกันในประเด็นต่างๆ ทั้งด้านความมั่นคงและด้านการค้า พร้อมทั้งมีแถลงการณ์ร่วมกัน

โดยใจความสำคัญในการพูดคุยในครั้งนี้ คงจะหลีกไม่พ้นประเด็นของเกาหลีเหนือ ซึ่งผู้นำทั้งสองมีเจตนาแน่วแน่ร่วมกันในการทำให้ผู้นำเกาหลีเหนือยกเลิกและหยุดยั้งโครงการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์

โดยทรัมป์ได้กล่าวว่า ยุคของนโยบายความอดทนทางยุทธศาสตร์ (strategic patience) ได้จบสิ้นไปแล้ว ซึ่งจากคำพูดที่แถลงการณ์  ทำให้เห็นว่า ที่ผ่านมาสหรัฐฯ ใช้นโยบายในลักษณะอดทนอดกลั้นชิงกลยุทธ์กับเกาหลีเหนือนั้นไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร จึงต้องใช้วิธีการตอบโต้แบบจริงจัง สหรัฐฯ เองคงต้องหาแนวร่วมมากขึ้นในการร่วมกันกดดันเกาหลีเหนืออย่างจริงจังและเด็ดขาด

ดังนั้น การเดินทางเยือนประเทศเกาหลีใต้และจีนนั้นประเด็นเรื่องความสงบในคาบสมุทรเกาหลียังคงเป็นประเด็นที่น่าจับตาต่อว่าผู้นำแต่ละประเทศจะมีทีท่าในการให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ มากน้อยเพียงใด

ภาพจาก Twitter ของประธานาธิปดีทรัมป์ในเสนอขายอาวุธ

ในขณะที่ประธานาธิปดีทรัมป์แสดงความแข็งกร้าวต่อต้านการทดลองอาวุธของเกาหลีเหนือ แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับพูดเสริมท้ายว่าเพื่อความปลอดภัยของญี่ปุ่น ญี่ปุ่นควรจะซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ เพื่อใช้ยิงต่อต้านอาวุธของเกาหลีเหนือให้ตกลงก่อนที่จะพุ่งผ่านน่านฟ้าเข้ามา ซึ่งอาวุธใหม่ที่ทรัมป์เสนอก็คือ ขีปนาวุธ SM3 อินเตอร์เซ็ปเตอร์ที่ผ่านการอัพเกรด และเชื่อว่าสามารถสกัดขีปนาวุธของเกาหลีเหนือได้

นอกจากนี้ยังพูดสนับสนุนให้นายกรัฐมนตรีอาเบะใช้อาวุธนี้ยิงหยุดยั้งความเหิมเกริมของเกาหลีเหนือ ซึ่งถือเป็น “การเสี้ยม” และเป็น “การเสี่ยง” ต่อการปะทะกันและอาจลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงในระดับนานาชาติ ซึ่งอาจเป็นฉนวนให้เกิดความไม่สงบในภูมิภาคเอเชียได้

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นกำหนดห้ามไม่ให้ญี่ปุ่นก่อสงครามอีกก็ตามแต่ในความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลอาเบะได้รับการเลือกตั้งเข้ามาอีกครั้ง ก็เพื่อพยายามแก้ไขและขยายขอบเขตการตีความในตัวกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการใช้กำลังทหารและอาวุธในการป้องกันการถูกโจมตีก่อน

ซึ่งประเด็นนี้ก็คงต้องติดตามกันว่า รัฐบาลอาเบะจะควบคุมสถานการณ์ภายใต้การคุ้มครองของอเมริกาต่อไปได้หรือไม่ หรือจะตัดสินใจใช้อาวุธในการหยุดยั้งภัยคุกคามภายใต้การสนันสนุนของสหรัฐฯ

ในระหว่างการพำนักในกรุงโตเกียว ทรัมป์ยังได้พบปะกับผู้นำภาคธุรกิจของญี่ปุ่น โดยเปิดประเด็นว่า การค้าระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ไม่เป็นธรรมและยังไม่มีการเปิดตลาดที่เสรีพอ ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาการค้าที่ขาดดุลกับญี่ปุ่นทรัมป์จึงประกาศว่าจะผลักดันความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างสองชาติให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น และเรียกร้องให้ญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนด้านการผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ ให้มากขึ้น

โดยข้อมูลล่าสุดระบุว่า เมื่อปีที่แล้วญี่ปุ่นได้เปรียบดุลการค้าต่อสหรัฐฯ ราว 6.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งผู้เขียนมองว่า ข้อมูลเชิงตัวเลขที่ผ่านมานี้เองที่ทำให้ผู้นำสหรัฐฯกล่าวเช่นนี้

ประกอบกับอุปสรรคทางการค้าระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ที่ผ่านมา เช่น การตกลงที่ไม่ลงตัวของกรอบความร่วมมือ TPP ทำให้ความสัมพันธ์ทางการค้าของสองประเทศอยู่ในภาวะระส่ำระสาย ขณะที่จีนก็มีท่าทีเชิงรุกมากขึ้นในทุกๆด้าน ดังนั้น การกล่าวเช่นนี้จึงถือเป็นการทบทวนความสำคัญของความร่วมมือกันในระหว่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง

ภาพการพบกันระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์กับบรรดาครอบครัวของชาวญี่ปุ่นที่ถูกลักพาตัวไป

 

ภาพจากรายการข่าวในญี่ปุ่น  ประธานาธิปดีทรัมป์กล่าวแสดงความร่วมมือช่วยเหลือชาวญี่ปุ่นที่ถูกเกาหลีเหนือจับตัวไป

นอกจากประเด็นการถกปัญหาเรื่องภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือและประเด็นทางด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจแล้ว รัฐบาล “อาเบะ” ยังจัดสรรเวลาให้ประธานาธิบดีทรัมป์พบปะกับบรรดาครอบครัวของชาวญี่ปุ่นที่ถูกเกาหลีเหนือลักพาตัวไป ซึ่งในจำนวนนี้มีมารดาของเมกูมิ โยโกตะ ซึ่งมีอายุเพียง 13 ปีขณะที่ถูกลักพาตัวไปเมื่อ 40 ปีก่อนด้วย

ซึ่งทรัมป์ได้รับปากว่าจะร่วมมือกับนายกฯอาเบะ ในการพยายามนำตัวบุคคลเหล่านั้นกลับสู่อ้อมกอดของครอบครัวให้ได้ โดยผู้นำสหรัฐฯ กล่าวด้วยว่า ถ้านายคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือส่งตัวพลเมืองเหล่านั้นกลับประเทศ ก็จะเป็นการส่งสัญญาณที่ยอดเยี่ยมและเป็นการเริ่มต้นกระทำสิ่งที่มีความพิเศษมาก

ในยุคที่อภิมหาเศรษฐีอย่าง “ทรัมป์”เข้ามาเป็นประธานาธิปดีของสหรัฐอเมริกา โดยการชูประเด็น American First” เพื่อให้ได้ความชอบธรรมในการดำเนินนโยบาย แน่นอนว่าเป็นเรื่องปกติในฐานะนักธุรกิจที่จะต้องคิดถี่ถ้วนถึงกำไรขาดทุน ได้เปรียบเสียเปรียบ

แต่ในบทบาทของผู้นำประเทศ การเดินทางเยือนในครั้งนี้เห็นได้ชัดจากถ้อยแถลงการณ์และจากการโพสต์ข้อความต่างๆลงในทวิตเตอร์ ทรัมป์ยังคงแสดงถึงความต้องการที่จะได้ผลประโยชน์จากประเทศที่ไปเยือนเสมอ

เช่นเดียวกับการเดินทางเยือนญี่ปุ่นในครั้งนี้ “ทรัมป์” ที่เสนอและเรียกร้องให้ญี่ปุ่นซื้ออาวุธเพื่อต้านทานภัยคุกคามจากอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ รวมทั้งสร้างความเป็นธรรมและความเป็นเสรีทางการค้าให้มากขึ้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้ ล้วนเป็นข้อเรียกร้องที่ควรจับตามองต่อไปว่ารัฐบาลอาเบะจะตัดสินใจอย่างไร และผลของการตัดสินใจในครั้งนี้จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับภูมิภาคเอเชียอย่างไร

 

 

ขอบคุณภาพ Featured จาก https://jp.usembassy.gov/