TREZ Jewelry แนะ เลือกจิวเวลรี่อย่างไร ราคาไม่ตก

2108

TREZ Jewelry (เทรซ จิวเวลรี่) ร้านอัญมณีและเครื่องประดับชั้นนำ โดย เยือนจันทร์ ชัยวัฒน์ กรรมการผู้จัดการร้าน จับมือ ศูนย์การค้าสยามพารากอน จัดงาน “Sparkling Life & Colorful Gemstones” (สปาร์คกลิ้ง ไลฟ์ แอนด์ คัลเลอร์ฟูล เจมสโตนส์) ณ ร้าน TREZ Jewelry ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยามพารากอน  โดยเชิญลูกค้าซูเปอร์วีไอพีและสมาชิกบัตรแพลตตินั่ม เอ็ม การ์ด สยามพารากอน ร่วมสัมผัสประสบการณ์ความสุข สุดพิเศษ กับอัญมณีและเพชรน้ำงาม หลากชนิด พร้อมจัดเอ็กซ์คลูซีฟเวิร์กช็อป เผยเคล็ดลับการเลือกสำหรับผู้หลงใหลเสน่ห์อัญมณี และนักสะสม เพื่อเพิ่มมูลค่า

เยือนจันทร์ ชัยวัฒน์ เผยว่า TREZ Jewelry จับมือกับ ฝ่ายกิจกรรมสมาชิกแพลตินั่ม เอ็ม การ์ด (Platinum M Card) ศูนย์การค้าสยามพารากอน จัดงานครั้งนี้ขึ้น เพื่อมอบประสบการณ์ความสุข สุดพิเศษ โดยเชิญลูกค้าวีไอพีและสมาชิกบัตรแพลตตินั่ม เอ็ม การ์ด สยามพารากอน ที่หลงใหลในอัญมณีทั้งเพื่อการสะสม และเพื่อการลงทุน มาร่วมสัมผัสจิวเวลรี่และอัญมณีน้ำงามชนิดต่างๆ พร้อมจัดเวิร์กช็อปแนะนำเทคนิค และหลักการการเลือกพลอยที่จะมีมูลค่าเพิ่มในอนาคต ซึ่งต้องพิจารณาองค์ประกอบด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แหล่งกำเนิด การปรับปรุงคุณภาพในพลอย และปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ เช่น สี ลวดลาย หรือตำหนิที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้สัมผัส และตื่นตากับการส่องกล้องพิจารณาในความงดงามของอัญมณีและประกายเพชรน้ำงาม ที่หาได้ยากอีกด้วย

กรรมการผู้จัดการร้าน TREZ Jewelry  ยังได้แนะนำการเลือกซื้อจิวเวลรี่  ควรทราบว่า ไม่ใช่ว่าจิวเวอรี่ทุกชิ้นเมื่อซื้อแล้วมูลค่าจะเพิ่มเสมอไป ฉะนั้น ต้องมีหลักในการเลือกซื้อ ว่าชิ้นไหนที่เราซื้อไปแล้วมูลค่าจะไม่ตก หรือมีแนวโน้มจะเพิ่มมูลค่าต่อไปในอนาคต สำหรับหลักเกณฑ์ในการเลือกจิวเวลรี่ ก่อนตัดสินใจซื้อมาครอบครอง ควรพิจารณา ดังนี้

1) Origin (แหล่งกำเนิด): แหล่งกำเนิดของอัญมณีแต่ละเม็ดนั้นถือเป็นปัจจัยต้นๆที่ใช้ในการพิจารณาคุณค่าของอัญมณีเม็ดนั้นๆ เพราะไม่เพียงแต่จะบอกเล่าเรื่องราวของแหล่งที่มาที่น่าสนใจแล้ว แหล่งการผลิตอัญมณีแต่ละแห่งล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวซึ่งก่อให้เกิดลักษณะอันโดดเด่นของอัญมณีเม็ดนั้นๆอีกด้วย เช่น แทนซาไนต์ พลอยสีน้ำเงินแกมม่วงที่มีเสน่ห์ ล้ำลึก และหายากชนิดหนึ่งนี้ มีแหล่งกำเนิดเฉพาะที่ประเทศแทนซาเนียเท่านั้น ประกายสดใหม่ที่น่าหลงใหลนี้จึงทำให้แทนซาไนต์ที่มาจากแทนซาเนียเป็นที่ต้องการของผู้มีรสนิยมและมีราคาที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

2) Gems Treatment: พลอยที่สวยจากธรรมชาติเป็นสิ่งที่หายาก และราคาสูงมาก ปัจจุบันพลอยมีค่าหลายชนิด ได้ผ่านกรรมวิธีปรับปรุงคุณภาพเป็นที่ยอมรับในทางสากล เช่น การเผาพลอย (แบบเก่า) เพื่อให้สีสวยขึ้นและความสะอาดในพลอยดูดีขึ้น เป็นการสวยอย่างถาวรและราคาสามารถจับจ่ายได้ ต้องรู้เทคนิคการสังเกตุพลอยที่มีการปรับปรุงคุณภาพที่ทำให้พลอยสวยแต่เป็นการชั่วคราวที่มีหลงเข้ามาในท้องตลาด

3) Phenomenon (ปรากฎการณ์ธรรมชาติ): ลักษณะพิเศษหรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในอัญมณี ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากตำหนิในอัญมณี โครงสร้างทางกายภาพ หรือแม้กระทั่งการดูดกลืนแสงของอัญมณีแต่ละชนิด ซึ่งปรากฏการณ์ธรรมชาตินี้มีได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น Chatoyancy (Cat’s eye) แสงสะท้อนที่เกิดจากตำหนิเส้นเข็มในหนึ่งระนาบ มักพบในพลอยคริสโซเบอริลตาแมวหรือทัวมาลีนตาแมว การเล่นสีของอัญมณีที่เมื่อแสงส่องผ่านและกระทบกับธาตุซิลิกอนจะเกิดเป็นลักษณะหย่อมสีหลายๆสี เป็นต้น

4)  4C: มาตรฐานสากลที่ใช้กันทั่วโลกนี้ยังคงเป็นใจความสำคัญที่ไม่ควรลืมเสมอสำหรับการเลือกอัญมณี โดยสามารถจำแนกออกเป็น

Color (สี) อัญมณีแต่ละชนิดมีสีสันและลักษณะเฉพาะที่โดดเด่น การพิจารณาในแง่ของสีนั้นนอกจากจะสัมพันธ์กับคุณสมบัติตามธรรมชาติของอัญมณีชนิดนั้นๆแล้ว รสนิยมส่วนบุคคล รวมถึงความนิยมของอัญมณีนั้นๆในแต่ละช่วงเวลาล้วนส่งผลต่อคุณค่าในอนาคตอีกด้วย

Clarity (ความใส) รอยตำหนิที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอาจเป็นตัวชี้วัดมูลค่าของอัญมณีเม็ดนั้นๆซึ่งกลายมาเป็นหลักที่สำคัญในการประเมินเพชรพลอย เนื่องจากอัญมณีแท้ตามธรรมชาติไม่มีอัญมณีใดที่มีความสมบูรณ์ปราศจากมลทินและตำหนิ Clarity จึงใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาจากความชัดเจน ความมากน้อยของตำหนิภายนอก เช่น รอยขีดข่วน รอยบิ่น เป็นต้น หรือมลทินที่อยู่ภายในซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จึงจำเป็นจะต้องใช้กล้องที่มีกำลังขยายสูงเป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณา

Cutting (การเจียระไน) สัดส่วนของเพชรซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความงามของเพชรและอัญมณีอื่นๆมีองค์ประกอบสำคัญ คือ ความลึก (depth) ความกว้าง (width) รูปทรงของหน้าเจียระไน (facet) และความสมมาตร (symmetry) การเจียระไนโดนช่างที่มีฝีมือ นอกจากจะมีผลต่อน้ำหนักที่พยายามรักษาไว้และความสวยงามของเพชรแล้ว ยังส่งผลถึงประกายแวววาวที่ทำให้จิวเวลรี่และผู้สวมใส่นั้นเจิดจรัสอย่างแท้จริง

Carat (กะรัต) น้ำหนักมาตรฐานที่ใช้ในการซื้อขายอัญมณี โดย 1 กะรัตมีน้ำหนักเท่ากับ 200 มิลลิกรัม อัญมณีที่มีกะรัตยิ่งสูงซึ่งมักหาพบได้ยากจึงมีมูลค่าที่สูงตามค่ากะรัตนั่นเอง