ค้าปลีกโคราชเดือด กลุ่มทุน “เซ็นทรัล” ได้ฤกษ์เปิดศึกชิงตลาด จับตาใครจะอยู่-ใครจะไป

2563

“นครราชสีมา” หรือ โคราช ถือเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่มีประชากรในพื้นที่ราว 2.8 ล้านคน มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของจังหวัดกว่า 2 แสนล้านบาท สูงเป็นอันดับหนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โดยมีรายได้ประชากรประมาณ 71,405 บาทต่อคนต่อปี การขยายตัวของภาคเศรษฐกิจเฉลี่ย 8% ซึ่งถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ

เรียกว่า เป็นจังหวัดที่มีเงินหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจมหาศาล

“โคราช” กำลังซื้อมหาศาล

การลงทุนในจังหวัดนครราชสีมาจึงยังสามารถรองรับกำลังซื้อที่มหาศาลและไม่ใช่แค่ประชากรในพื้นที่ 2.8 ล้านคนเท่านั้น แต่ยังกินรวมไปถึงจังหวัดที่อยู่ในรัศมี 120 กิโลเมตร รวมถึงบุรีรัมย์และชัยภูมิอีกด้วย

ไม่เพียงเท่านี้ “โคราช” ยังเป็นจังหวัดที่เป็นเกตเวย์สำคัญของการเดินทางสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย และเป็นจังหวัดที่สามารถเชื่อมต่อกับภูมิภาคแถบนี้และประเทศในกลุ่มเออีซีได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าผ่านระบบรางกับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา รถไฟรางคู่มาบกะเบา-นครราชสีมา และทางด่วนมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา

จากทิศทางการขยายตัวของจังหวัดที่เติบโตต่อเนื่องนี้ทำให้นักลงทุนรายใหญ่ทั้งส่วนกลางและในพื้นที่แห่ลงทุนกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกทั้งศูนย์การค้า ศูนย์รวมวัดสุดก่อสร้าง ฯลฯ

 

“เดอะมอลล์” ชิงผู้นำเปิดตลาดศูนย์การค้าขนาดใหญ่

“เดอะมอลล์ โคราช” หรือ ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ ช็อปปิ้ง เซ็นเตอร์ นครราชสีมา เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปบนพื้เนที่ 57 ไร่ เมื่อปี 2543ด้วยมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 5,400 ล้านบาท ในห้วงเวลานั้นถือเป็นศูนย์การค้าในเครือเดอะมอลล์แห่งแรกที่เปิดให้บริการในต่างจังหวัด

และก็เป็นสาขาที่ประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งในด้านยอดขาย ความนิยมของกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย กระทั่งมีการเปิดเผยกันว่า “เดอะมอลล์ โคราช” เป็นสาขาที่ทำรายได้สูงสุดเป็นอันดับ 3 ของกลุ่มเดอะมอลล์ โดยเป็นรองเพียงแค่ศูนย์การค้าสยามพารากอน และเดอะมอลล์ บางกะปิ เท่านั้น

ล่าสุดเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา ได้มีการลงทุนเพิ่มอีกกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อปรับโฉมครั้งใหญ่ พร้อมทั้งขยายพื้นที่เพิ่มเป็น 80 ไร่ ส่งผลให้ศูนย์การค้าแห่งนี้มีพื้นที่ใช้สอยรวมมากถึง 350,000 ตารางเมตร โดยมีเป้าหมายผลักดันให้ศูนย์การค้าแห่งนี้เป็น “พารากอน” ของภาคอีสาน

“เทอร์มินอล21” ลงทุนตัดหน้า “เซ็นทรัล”

จากผลตอบรับที่ดีของค่ายเดอะมอลล์ ทำให้ค้าปลีกรายใหญ่หลายค่ายต่างหันมาให้ความสนใจ พร้อมทั้งกว้านซื้อที่ดินกันอย่างหนัก และแน่นอนว่าเมื่อค่ายเดอะมอลล์ไปลงทุนและประสบความสำเร็จ มีหรือพี่ใหญ่อย่างเซ็นทรัลจะนิ่งนอนใจได้ จึงมีข่าวออกมาเป็นระยะว่า “กลุ่มเซ็นทรัล” ได้ลงไปไล่ซื้อที่เก็บไว้เป็นจำนวนมาก

แต่ในที่สุดก็ถูกม้ามืดอย่างกลุ่ม “แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์” เจ้าของศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ และเทอร์มินอล 21 อโศก ชิงตัดหน้าลงทุนไปก่อน ภายใต้ชื่อโครงการ “เทอร์มินอล 21 โคราช”

โดย“เทอร์มินอล 21 โคราช” ก็ถือเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา และเป็นสาขาแรกของกลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ที่ลงทุนในต่างจังหวัด ในนามบริษัท สยามรีเทล ดีเวลอปเมนท์  จำกัด ซึ่งพัฒนาภายใต้ในแนวคิด “จุดหมายปลายทางแห่งการช็อปปิ้ง (World Market Street)”

ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับเทอร์มินอล 21 สาขาแรก (อโศก) โดยแต่ละชั้นจะตกแต่งเป็นบรรยากาศของเมืองสำคัญของโลก ได้แก่ แคริบเบียน ปารีส ลอนดอน อิสตันบูล โตเกียว ซานฟรานซิสโก และ ฮอลลีวู้ด

ศูนย์การค้าแห่งนี้ได้เปิดให้บริการไปแล้วเมื่อปลายปี 2559 ใช้งบในการลงทุนก่อสร้างไปราว 6,000 ล้านบาท มีพื้นที่ใช้สอบรวมประมาณ 240,000 ตารางเมตร

“เซ็นทรัล” ได้ฤกษ์เปิดตัวอย่างเป็นทางการ 3 พ.ย.นี้

“ปรีชา เอกคุณกูล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น กล่าวว่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้

โดยโครงการดังกล่าวนี้เป็นมิกซ์ยูสโปรเจ็กต์สุดยิ่งใหญ่แบบมหานครแห่งอีสานด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท บนพื้นที่กว่า 65 ไร่ พื้นที่ใช้สอยรวม 355,000 ตารางเมตร

โดยมีพื้นที่รวมใหญ่เป็นอันดับ 3 ของศูนย์การค้ากลุ่มเซ็นทรัล รองจากเซ็นทรัลเวิลด์ และเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต ศูนย์การแห่งนี้จะมุ่งเป็น lifestyle innovation และศูนย์กลางการใช้ชีวิตแห่งใหม่ที่ตอบรับกับรูปแบบไลฟ์สไตล์ของชาวโคราช และคนอีสานได้ครบทุกมิติ

“คลังพลาซ่า” เจ้าถิ่นไม่หวั่น! ชี้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น

“ไพรัตน์ มานะศิลป์” รองประธานกรรมการบริษัท คลังพลาซ่า จอมสุรางค์ จำกัด ผู้บริหารห้างสรรพสินค้าคลังพลาซ่า ให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า หลังจากที่มีศูนย์การค้าขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนเปิดให้บริการในนครราชสีมาหลายแห่งนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบกับคลังพลาซ่าแต่อย่างใด

ทั้งนี้ เนื่องจากกลุ่มลูกค้าคลังพลาซ่าจะเป็นกลุ่มที่มีเวลาช็อปเพียงแค่ 1-2 ชั่วโมง ส่วนลูกค้าที่เข้าห้างใหญ่ต้องมีเวลา 4-5 ชั่วโมงใช้เวลาตั้งแต่จอดรถ เดินช็อป หรือทำอย่างอื่นในห้าง และยังมองว่าการมีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ระดับประเทศเข้าไปเปิดยังทำให้คนโคราชมีทางเลือกมากขึ้น

“เมื่อ 16-17 ปีที่แล้ว เดอะมอลล์มาเปิดก็ได้นำความเจริญมาโคราช อาหารการกิน แฟชั่น โรงหนัง มารวมที่โคราชเหมือนกรุงเทพฯ จากนั้นก็มีเทอร์มินอล 21 และล่าสุดคือเซ็นทรัล ก็จะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าลูกค้าทุกคนในโคราชต้องไปทุกห้าง ต้องไปดูไปช็อปว่าห้างไหนจะมีสินค้าที่โดนใจ โดยที่ไม่ต้องไปถึงกรุงเทพฯ ซึ่งตอนนี้ต้องบอกได้เลยว่าเมืองโคราชบูมมาก ทุกโครงการมุ่งมาหาโคราชหมด ทั้งทางด้านคมนาคม ฮับที่เป็นเรื่องช็อปปิ้ง หรือแม้แต่ธุรกิจโรงแรม ซึ่งล้วนเป็นแบรนด์ดังทั้งสิ้น”

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด กลุ่มคลังพลาซ่า ได้ประกาศชะลอการก่อสร้างโครงการ “คลังสเตชั่น” หนองไผ่ล้อม ซึ่งเป็นสาขาที่ 4 ของคลังพลาซ่า หลังจากที่ได้เปิดตัวไปเมื่อปีที่ผ่านมา

ด้วยเหตุผลที่ว่า เพื่อดูแบบการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ที่กำลังจะก่อสร้างเป็นทางยกระดับว่ามีรูปแบบเป็นอย่างไร เพราะเป็นห่วงเรื่องรูปแบบของการก่อสร้างที่อาจมีกำแพงกั้นจะทำให้ทางเข้าห้างไม่ได้จึงต้องหยุดชั่วคราวไปก่อน

“ดิสเคาน์สโตร์-ค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง” เกิดพรึบ

ท่ามกลางการแข่งขันของศูนย์การค้าขนาดใหญ่ดังกล่าวนั้นค้าปลีกในกลุ่มดิสเคาน์สเตร์อย่างโลตัส บิ๊กซี แมคโคร รวมถึงค้าปลีกในกลุ่มวัสดุก่อสร้างก็มีการลงทุนเพิ่มขึ้นราวกับดอกเห็ด

ทั้งนี้ จากการมอนิเตอร์ของ www.362degree.com พบว่า ปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมา มีโลตัสเปิดให้บริการแล้วถึง 7 สาขาคือ โลตัส สาขาในเมือง, โลตัสสาขาปากช่อง, โลตัส สาขาบัวใหญ่, โลตัส สาขาหัวทะเล, โลตัส สาขาโชคชัย โลตัส สาขาพิมาย และโลตัส สาขาจอหอ

ขณะที่บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เปิดให้บริการไปแล้ว 2 สาขา คือ บิ๊กซี สาขาในเมืองและบิ๊กซี สาขาสามแยกปักธงชัย ส่วนแมคโคร เปิดให้บริการแล้ว 3 สาขา ได้แก่ แมคโคร สาขาในเมือง, แมคโคร สาขาปากช่อง และแมคโคร สาขาหัวทะเล

สำหรับค้าปลีกในกลุ่มวัสดุก่อสร้างนั้น พบว่า แทบทุกค่ายได้ลงทุนเปิดให้บริการกันเกือบครบทุกแบรนด์ อาทิ โฮมโปร ที่มีถึง 3 สาขา คือ โฮมโปร สาขาบายพาส, โฮมโปร สาขาปางช่อง และโฮมโปร สาขาหัวทะเล

นอกจากนี้ยังมีดูโฮม, โกลบอลเฮ้าส์, อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์, เมเจอร์ เฟอร์นิเจอร์, คอนเซ็ปต์ เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ

 ส่องตัวเลข 3 ค่ายใหญ่ “คลังพลาซ่า” ขาดทุนอ่วม

จากการตรวจสอบผลประกอบการย้อนหลัง 5 ปี ของกลุ่มค้าปลีกนครราชสีมาใน 3 บริษัทใหญ่ ได้แก่ บริษัท สยามรีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าเทอร์มินอล21 โคราช, เทอร์มินอล21 อโศก และแฟชั่นไอส์แลนด์ พบว่า ปี 2559 ที่ผ่านมา มีรายได้รวม2,349.51 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 694.93 ล้านบาท ปี 2558 มีรายได้รวม 2,108.44 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 572.36 ล้านบาท ปี 2557 มีรายได้รวม 2,035.85 ล้านบาท  มีกำไร 585.92 ล้านบาท ปี 2556 มีรายได้รวม 1,929.32 ล้านบาท มีกำไร 590.03 ล้านบาท และปี 2555 มีรายได้รวม 1,801.73 ล้านบาท มีกำไร 458.59 ล้านบาท

ทั้งนี้ ผลประกอบการดังกล่าวยังไม่โชว์ตัวเลขของเทอร์มินอล 21 โคราช เนื่องจากเพิ่งเปิดให้บริการเมื่อเดือนธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา

ส่วน บริษัท เดอะมอลล์ราชสีมา จำกัด  พบว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมามีรายได้รวม 2,750.43 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 36.70 ล้านบาท ปี 2558 มีรายได้รวม 2,723.42 ล้านบาท มีกำไรสิทธิ 42.712 ล้านบาท ปี 2557 มีรายได้รวม 2,910.22 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 131.37 ล้านบาท ปี 2556 มีรายได้รวม 2,932.51 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 79.17 ล้านบาท  และปี 2555 มีรายได้รวม 2,913.62 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 106.10 ล้านบาท

สำหรับ บริษัท คลังพลาซ่า จอมสุรางค์ จำกัด พบว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมามีรายได้รวม 730.04 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 7.36 ล้านบาท ปี 2558 มีรายได้รวม 699.63 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 43.03 ล้านบาท ปี 2557 มีรายได้รวม 515.99 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 69.18 ล้านบาท ปี 2556 มีรายได้รวม 663.25 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 24.52 ล้านบาท และปี 2555 มีรายได้รวม 708.56 ล้านบาท กำไรสุทธิ 8.98 ล้านบาท

จากตัวเลขผลประกอบการข้างต้นสะท้อนให้เห็นแล้วว่าเกมส์นี้ “ปลาใหญ่ กินปลาเล็ก” 

และเชื่อว่าเมื่อพี่ใหญ่ “เซ็นทรัล” ลงมาเปิดเกมส์รุกอีกค่ายจะยิ่งทำให้สมรภูมิการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกของเมืองโคราชยิ่งดุเดือดแน่นอน และในที่สุดก็คงจะวัดกันที่ว่าห้างไหนจะตอบโจทย์ได้มากกว่ากันทั้งเรื่องทำเล สินค้า ฯลฯ ที่สำคัญ “ทุนท้องถิ่น” หรือ “ทุนรายย่อย” จะอยู่ต่อไปได้อีกนานแค่ไหน…

 

 

ขอบคุณภาพจาก : Korat Startup, thinsiam.com, Skyscraparety.com