“ญี่ปุ่น” กรณีศึกษาเรื่องการรับมือแผ่นดินไหว และการป้องกันอุทกภัยในโตเกียว

11986

เรื่องโดย : ผศ.ดร.ณัฐธเดชน์ ชุ่มปลั่ง ภาควิชาสาธารณสุขศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ International University of Health and Welfare ประเทศญี่ปุ่น

ในช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงสัปดาห์นี้ ญี่ปุ่นได้เผชิญกับพายุลูกที่ 21 ที่บุกขึ้นจู่โจมทั่วทั้งเกาะ พายุได้ทวีความรุนแรงขึ้นไปถึงระดับ 4 พัดผ่านภาคใต้ของประเทศ และมีกำลังแรงขึ้นมุ่งตรงสู่เกาะฮอกไกโด

พายุลูกนี้ก่อให้เกิดฝนตกหนักและลมกระโชกแรงมาก สภาพอากาศที่เลวร้ายจากอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นนี้ ส่งผลให้หลายพื้นที่ต้องประกาศให้ประชาชนรีบอพยพออกจากบ้านไปพำนักที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว

ความรุนแรงของพายุยังทำให้ต้นไม้หักโค่น เสาไฟฟ้าล้มเอนเป็นจำนวนมาก  ขณะที่การให้บริการเดินทางโดยเครื่องบินและรถไฟต้องถูกยกเลิกไป

นอกเหนือจากเหตุการณ์พายุไต้ฝุ่นที่กล่าวข้างต้นแล้ว ในแต่ละปี ญี่ปุ่นยังประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอยู่เสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นพายุไซโคลน อุทกภัย ดินโคลนถล่ม แผ่นดินไหว Tsunami ภูเขาไฟระเบิด ฯลฯ

ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นภัยคุกคามที่สร้างความเสียหายทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนนำมาซึ่งความเสียหายทางเศรษฐกิจอีกด้วย  อาจจะกล่าวได้ว่า ญี่ปุ่นเป็น “ประเทศที่เสี่ยงภัยเผชิญกับชะตากรรมและภัยพิบัติทางธรรมชาติมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก”

ที่ผ่านมา เหตุการณ์แผ่นดินไหวซึ่งเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง มีสาเหตุเกิดจากการที่ประเทศตั้งอยู่บนแนวรอยเลื่อนของเปลือกโลกที่เรียกกันว่า แนววงแหวนแห่งไฟ (Pacific Ring of Fire) และการเกิดแผ่นดินไหวบริเวณรอยเลื่อนของโลกที่อยู่ใต้ทะเลมักทำให้เกิดคลื่นยักษ์ Tsunami ตามมา

ด้วยเหตุผลในเชิงภูมิศาสตร์นี่เองที่ทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ประสบกับแผ่นดินไหวอยู่บ่อยครั้ง จากประสบการณ์นี้ทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยธรรมชาติที่เกิดจากแผ่นดินไหวได้ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และมีการวางแผนเพื่อรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาตอื่นๆ อย่างชาญฉลาดและยั่งยืนแห่งหนึ่งของโลกอีกด้วย
การรับมือกับแผ่นดินไหว

ในอดีตที่ผ่านมา ญี่ปุ่นต้องผจญกับภัยทางธรรมชาติที่รุนแรงอยู่หลายครั้ง ล่าสุดเมื่อปี 2001 ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ขนาด 9.0 ริกเตอร์ โดยมีศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่นอกชายฝั่งตะวันออกห่างจากคาบสมุทรโอชิกะ ซึ่งตั้งอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น นับเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

ความสั่นสะเทือนในครั้งนี้เป็นผลทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิซัดถล่มเมืองชายฝั่งและพัดเข้าไปในแผ่นดินกว่า 14 กิโลเมตร ทำให้บ้านเรือนพังพินาศ ประชาชนได้รับบาดเจ็บ ล้มตาย และสูญหายกันเป็นจำนวนมาก มียอดผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายจากเหตุการณ์ประมาณ 28,000คน มีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจมากถึง 16-25 ล้านล้านเยน

นอกจากนี้แรงสั่นสะเทือนในครั้งนี้ยังทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะ มีปัญหาในระบบหล่อเย็นและเกิดระเบิด จนมีสารกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลออกมา เกิดการปนเปื้อนทั้งในอากาศ ดิน และน้ำ ทำให้ทางการของญี่ปุ่นต้องเร่งอพยพประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ภายในรัศมี 20 กิโลเมตร ออกจากจุดเกิดเหตุ สร้างความเดือนร้อนให้กับเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่นี้อย่างมากมาย

เหตุการณ์ในครั้งนี้นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ประชาชนออกมาต่อต้านการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ และตอกย้ำให้คนญี่ปุ่นเห็นความสำคัญของพิษภัยจากผลกระทบจากโรงงานไฟฟ้านิวเครียร์มากขึ้นอีก และยังเรียกร้องให้รัฐบาลงด และลดการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์อีกด้วย

ภาพที่ผู้เขียนได้ลงพื้นที่ไปทำกิจกรรมอาสาสมัครครั้งแรกบริเวณเมือง Kesennuma จังหวัดมิยากิ หลังจากเกิดเหตุการณ์ Tsunami ได้ 6 เดือน

จากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสลงพื้นที่ไปเป็นอาสาสมัครในพื้นที่ที่ประสบภัย 2-3 ครั้ง พบว่าบริเวณที่ประสบภัยมีการฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วมาก ดังจะเห็นจากหลังเหตุการณ์สึนามิ ทางการญี่ปุ่นสามารถสร้างสะพานชั่วคราว Great Kansen Bridge ภายในเวลาเพียง 61 วัน เร็วกว่ากำหนด 2 เดือน จากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน ทำให้การเข้าไปฟื้นฟูพื้นที่และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทำได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้มีโอกาสคุยกับผู้ประสบภัยหลายคน แน่นอนว่าทุกคนต่างเศร้าและเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็เห็นความสำคัญของการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามเกิดภัยพิบัติ และเห็นคุณค่าของการได้มีชีวิตอยู่มากขึ้นด้วย

เหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ในครั้งนี้ยังคงให้บทเรียนและแนวคิดใหม่อีกครั้ง นั่นคือ การสร้างเมืองเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ เช่น การฝึกซ้อมการใช้อุปกรณ์ในภาวะฉุกเฉิน การหนีภัย การปฏิบัติตัวที่ถูกวิธีเพื่อเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติ ในช่วงระหว่างการเกิดภัยพิบัติ ผู้ประสบภัยต้องสามารถช่วยเหลือตัวเองให้มีชีวิตอยู่รอดได้อย่างน้อย 72 ชั่วโมง ก่อนที่ความช่วยเหลือจากภายนอกจะเข้าไปถึง

การย้ายเมืองที่มีความเสี่ยงกับภัยจาก Tsunami ให้เมืองใหม่ขึ้นไปปลูกสร้างบนที่สูง การสนับสนุนให้แต่ละชุมชนพัฒนาระบบพลังงานแสงอาทิตย์ที่รองรับการขาดแคลนพลังงานเนื่องจากเหตุการณ์ภัยพิบัติ

ตลอดจนการตระเตรียมอาหารสำรองและสิ่งของที่จำเป็นในยามฉุกเฉิน ซึ่งแผนการรับมือกับภัยพิบัติของญี่ปุ่นนี้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและแผนการรับมือให้กับประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

อุโมงค์ยักษ์ G-Cans กับการแก้ปัญหาอุทกภัยในมหานครโตเกียว

ผู้เขียนติดตามข่าวเหตุการณ์น้ำท่วมตามภาคต่างๆ ของเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ล่าสุดที่ผ่านมา หลังจากที่ฝนได้เทกระหน่ำลงมาเพียงไม่ถึงสองชั่วโมงก็เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมขังในเวลาต่อมา

ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้หลายคนเกิดความสงสัยและความคลางแคลงใจในประสิทธิภาพของระบบ ว่าจะระบายน้ำและจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้หรือไม่ อย่างไรก็ดี

ผู้เขียนอยากยกตัวอย่างระบบอุโมงค์ยักษ์ G-Cans ของญี่ปุ่น ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นตัวอย่างระบบการจัดการน้ำระบบหนึ่งที่หลายประเทศจับตามอง

ภาพจาก:  http://arch611.blogspot.jp/2011/05/underground-architecture-by-raymond-yan.html

อุโมงค์ดังกล่าวนี้ใช้เวลาในการสร้างนานถึง 15 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 1992 และสร้างเสร็จในปี 2006 ด้วยเงินงบประมาณสูงถึง 2 พันล้านดอลลาห์สหรัฐ (ประมาณ 92,000 ล้านบาทไทย) การสร้างอุโมงค์ในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในโตเกียวเมื่อเดือนกันยายน ปี 1991 ซึ่งเป็นครั้งที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 30 ปี

ญี่ปุ่นใช้บทเรียนจากมหาอุกทกภัยในครั้งนี้มาวางแผนการในการระบายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

ภาพแสดงระบบอุโมงค์ระบายน้ำจาก   https://www.globalcitizen.org/fr/content/japan-flood-control-

โดยการจัดสร้างอุโมงค์ระบายน้ำอยู่ใต้พื้นดินลงไป 50 เมตร มีขนาดความยาว 177 เมตร กว้าง 78 เมตร และสูง 25.4 เมตร มีเสารองรับน้ำหนักถึง 59 เสา เสาแต่ละต้นมีขนาดผ่าศูนย์กลาง 2 เมตร และสูง 25.4 เมตร แต่ละเสามีนํ้าหนักต้นละ 500 ตัน และไซโลคอนกรีต ถังคอนกรีตเก็บน้ำขนาดยักษ์ 5 แห่ง มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 32 เมตร สูง 65 เมตร และลึกลงไปใต้พื้นอุโมงค์อีก 15 เมตร ซึ่งถังคอนกรีตขนาดยักษ์จะเชื่อมต่อกับอุโมงค์ที่มีความยาว 6.4 กิโลเมตร ระบบป้องกันนี้นอกจากจะครอบคลุมทั้งในโตเกียวแล้ว ยังครอบคลุมถึงเมือง Kasukabe ในจังหวัดไซตะมะ ซึ่งเป็นทางระบายน้ำจุดหนึ่งที่ถูกทำให้ไหลและระบายมาจากแม่น้ำโทเนะอีกด้วย

ระบบอุโมงค์ระบายนํ้านี้สามารถรองรับน้ำได้ถึง 11.72 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเมื่อน้ำในถังคอนกรีตขนาดยักษ์เต็มแล้ว จะทำการระบายนํ้าด้วยเครื่องสูบขนาดยักษ์ จำนวน 78 เครื่อง เพื่อระบายน้ำออกจากไซโลคอนกรีตขนาดยักษ์ โดยเครื่องแต่ละตัวมีพลังในการสูบน้ำที่ 200 ตันต่อวินาที เพื่อระบายนํ้าลงไปยังแม่น้ำเอโดงาวะต่อไป

จากการศึกษารายงานผลของโครงการอุโมงค์ยักษ์ G-Cans (ศึกษาเพิ่มเติมได้จาก :  http://www.ktr.mlit.go.jp/edogawa/gaikaku/intro/04kouka/index.html) พบว่าอุโมงค์ยักษ์นี้ นับตั้งแต่มีฝนตกหนักครั้งใหญ่มาแล้วกว่า 100 ครั้ง อุโมงค์ยักษ์แห่งนี้ช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม และช่วยให้ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาเกิดการระบายได้อย่างมีประสิทธิผล และตั้งแต่มีการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำแห่งนี้ขึ้นมา โตเกียวก็ไม่เคยมีปัญหานํ้าท่วมอีกต่อไป

ระบบอุโมงค์ยักษ์ G-Cans ถือว่าเป็นตัวอย่างที่น่าศึกษาอันหนึ่งที่สามารถจัดการและแก้ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างถาวรและยั่งยืน

ผู้เขียนมองว่า การมองการณ์ไกลในการแก้ปัญหาและความจริงจังของภาครัฐ ประกอบกับการได้รับความร่วมมือจากประชานชนทุกคนให้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยทางมหานครโตเกียวจะมีการซ้อมรับมือภัยพิบัติต่างๆ เป็นประจำ

ขณะที่การก่อสร้างในเมืองของญี่ปุ่นจะถูกควบคุมอย่างเข้มงวด ไม่ให้กีดขวางเส้นทางระบายน้ำภายใต้กฎหมายผังเมือง และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ระบบการจัดเก็บและคัดแยกขยะของญี่ปุ่นก็มีส่วนสำคัญในการป้องกันน้ำท่วม โดยเมืองต่างๆ ของเขตต่างๆ มีระเบียบการคัดแยกขยะประเภทต่างๆ เพื่อทิ้งในแต่ละวันของสัปดาห์อย่างเคร่งครัด ผู้ที่ไม่คัดแยกขยะทิ้งผิดประเภทผิดวัน หรือทิ้งสะเปะสะปะไม่เป็นที่เป็นทาง ไม่เพียงแต่ขยะจะไม่ถูกเก็บไปเท่านั้น แต่ยังอาจถูกปรับเป็นเงินจำนวนมากอีกด้วย

ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงด้านภัยพิบัติสูง ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นเองตระหนักดีว่า “ไม่มีระบบป้องกันใดที่สมบูรณ์แบบ หากขาดการเตรียมพร้อมที่ดีของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งจิตสำนึกสาธารณะ (Public mind) ของประชาชนแล้ว ต่อให้ระบบเตรียมการรับมือที่ดีอย่างไรก็คงก็ไร้ผล”

ดังนั้น เราควรหันกลับมาคิดทบทวนถึงมุมมองและบทบาทของเราต่อการปัญหา และคิดว่าเราจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาได้อย่างไร
 

ยุทธศาสตร์การป้องกันและจัดการภัยพิบัติ

ญี่ปุ่นได้มีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการภัยพิบัติฉบับแรกตั้งแต่ปี 1959 เรียกว่า 災害対策基本法 หรือ กฎหมายพื้นฐานเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ (Disaster Countermeasures Basic Act) เพื่อวางยุทธศาสตร์การจัดการภัยพิบัติของประเทศอย่างเป็นระบบ

ซึ่งเนื้อหาสำคัญคือ การกำหนดมาตรการการรับมือกับการวางระบบองค์กร งบประมาณที่เกี่ยวข้อง การเตรียมการในภาวะฉุกเฉิน แผนงานป้องกันภัยพิบัติ  เป็นต้น ทั้งนี้กฎหมายฉบับนี้ถือว่ามีความสำคัญมากในช่วงเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เมืองโกเบในปี 1995 อีกด้วย

สรุปและเรียบเรียงจาก http://www.adrc.asia/documents/law/DisasterCountermeasuresBasicAct.pdf

นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดตั้ง 中央防災会議 หรือ “สภาจัดการภัยพิบัติแห่งชาติ” (Central Disaster Management Council) ซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีสมาชิกสภาฯ ประกอบไปด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการบริหารจัดการภัยพิบัติ (Minister of State for Disaster Management) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นกรรมการ

รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญและหัวหน้าองค์กรภาครัฐ ได้แก่ ผู้ว่าการธนาคารญี่ปุ่น สภากาชาดญี่ปุ่น ประธานสถานีโทรทัศน์และวิทยุสาธารณะ NHK ประธานบริษัทโทรคมนาคม NTT 4 คน รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการอีก 4 คน นั่งอยู่ในบอร์ดนี้ด้วย

ภาพจาก ADRC http://www.adrc.asia/nationinformation.php?NationCode=392

สำหรับบทบาทและหน้าที่ของสภาการจัดภัยพิบัติแห่งชาติคือ รายงาน เสนอความเห็นต่อการกำหนดยุทธศาสตร์จัดทำแผนรองรับภัยพิบัติ ตลอดจนเสนอจัดสร้างระบบจัดการภัยพิบัติซึ่งมีขั้นตอนการจัดการกับภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติในรูปแบบใด

โดยมีหลักการจัดการพื้นฐานในการบริหารจัดการภัยพิบัติที่สำคัญ ประกอบด้วย การป้องกันและการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ การตอบสนองอย่างทันท่วงทีที่เกิดเหตุ และการฟื้นฟูความเสียหายให้กลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด นอกจากนั้น ยังมีการจัดแผนการจัดการภัยพิบัติที่เชื่อมโยงกับการทำงานของท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศอีกด้วย

บทความนี้ ผู้เขียนได้นำเสนอเกี่ยวกับเรื่องของจัดการภัยพิบัติ ที่ถือว่าเป็นภัยคุกความต่อความมั่นคงของทุกประเทศ และเป็นประเด็นที่ท้าทายสำหรับทุกภาคส่วนในสังคมที่จะต้องตื่นตัวและทำการรับมือเพื่อลดภัยต่างๆ ให้น้อยที่สุด หรือลดความเสี่ยงมิให้ขยายวงกว้าง

โดยได้ยกตัวอย่างการเตรียมป้องกันภัยจากแผ่นดินไหว และการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมในมหานครโตเกียวว่ามีแนวทางอย่างไร แน่นอนว่า ในระดับบุคคล จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตื่นตัว เตรียมพร้อมและเฝ้าระวังภัยพิบัติในทุกรูปแบบ ทั้งนี้ทั้งนั้น ในระดับประเทศควรจะมีการวางแผนและมีการป้องกันแบบองค์รวม มี “การเตรียมพร้อมที่คน” ในการรับมือ และจัดกำลังคนหรือหน่วยงานเพื่อรับมือให้ท่วงทันต่อสภาพการณ์หรือปัญหาที่เกิดขึ้น

ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า  กรณีศึกษาของประเทศญี่ปุ่นจะเป็นแนวคิดให้เราหันกลับมาทบทวนถึงการเตรียมรับมือของบ้านเมืองเรา ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และในระดับจังหวัดต่อไป

 

ขอบคุณภาพ Featured จากhttp://www.japansociety.org.uk/earthquake-2/?lang=ja