การรับมือกับ“สังคมสูงวัย” ในญี่ปุ่น ความท้าทายที่เป็น “โอกาสทอง”ของไทย

7078

เรื่องโดย : ผศ.ดร.ณัฐธเดชน์ ชุ่มปลั่ง ภาควิชาสาธารณสุขศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์  International University of Health and welfare ประเทศญี่ปุ่น

อีกไม่กี่วันประเทศญี่ปุ่นจะมีการเลือกตั้งแห่งชาติครั้งใหม่ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ หลังจากนั้นจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหาร

ประเด็นในการหาเสียงและการชูนโยบายในครั้งนี้ก็ยังคงหนีไม่พ้นเรื่องของการรับมือกับปัญหา “超高齢化社会” หรือ สังคมผู้สูงอายุแบบสุดๆ ซึ่งเรื่องนี้ยังคงเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ทุกรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศให้ความสำคัญ  รวมทั้งเรื่องนี้ยังเป็นหัวข้อที่ทั่วโลกต่างจับตามองถึงแนวทางในการรับมือและแก้ปัญหาอีกด้วย

สำหรับเมืองไทยแล้ว ผู้เขียนมองว่าเป็น โอกาสทอง ในการศึกษาตัวอย่างเรื่องการบริหารจัดการ และใช้ความท้าทายนี้ เป็นช่องทางในการสร้างเสริมบุคลากรด้าน Health care  หรือแม้กระทั่งเรื่องของการพัฒนาธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงอายุก็ตาม   ญี่ปุ่น ก็นับเป็นตำราเรียนที่เต็มไปด้วย เทคนิคเคล็ดลับมากมายในการเตรียมพร้อมสู่การเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดีเยี่ยม

(ข้อมูลจาก : http://www.nippon.com/en/features/h00079/)

แม้ว่าหลายประเทศจะเริ่มหรือกำลังประสบปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก็ตาม  แต่ “ญี่ปุ่น” ถือเป็นประเทศที่เข้าขั้นวิกฤติที่สุด โดยดูจากจำนวนประชากร 127 ล้านคน ซึ่งเป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวนมากถึง 40 ล้านคน หรือร้อยละ 33 ของประชากร ซึ่งตัวเลขนี้ถือว่าสูงที่สุดในโลก

หากจะมองย้อนกลับไป ญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2513 คือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี เกิน 7%  และได้กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์เมื่อปี 2537 คือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี เกิน 14% และในปัจจุบันประมาณ 23% ของประชากรมีอายุมากกว่า 65 ปี ซึ่งตัวเลขมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

โดยมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2563 จะมีประชากรสูงวัยถึง 29% และจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 39% ภายในปี 2593 

ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึงขนาดนี้คือ การมีอัตราเด็กเกิดใหม่ในระดับต่ำมากต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลานานหลายปี  ตลอดจนอายุขัยเฉลี่ยของผู้สูงอายุสูงขึ้น อันเกิดจากปัจจัยด้านการแพทย์ สิ่งแวดล้อม  จึงเป็นผลให้โครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงไป จึงส่งผลให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น

แน่นอนว่า  ผลที่ตามคือ ภาระด้านการคลังอันหนักอึ้งของทางรัฐบาล ที่ต้องจัดสรรเงินงบประมาณด้านประกันสังคม ซึ่งเพิ่มมากขึ้นทุกปี เพื่อนำมาใช้บริหารจัดการผู้สูงอายุ  เช่น  ค่าดูแลรักษาพยาบาล  เป็นต้น  ถึงแม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหา ปฏิรูป ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการมาอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่ก็ไม่ทัน และเพียงพอกับการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่องได้

(ภาพจาก :  http://asiasociety.org/blog/asia/interview-what-aging-and-shrinking-population-means-japan)

ในขณะที่ญี่ปุ่นกำลังเอาจริงเอาจังกับการรับมือของจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่มีจำนวนสูงขึ้น  สิ่งที่เป็นปัญหาตามมานั่นคือ การขาดแคลนบุคลากรที่จะเข้ามาดูแลอภิบาลผู้สูงอายุ ดังนั้นทางญี่ปุ่นจึงได้มีการออกกฎหมายอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาทำงานในสาขานี้ได้

ซึ่งผู้เขียนมองว่าถือเป็นตลาดใหม่ที่เปิดโอกาสให้คนไทยสามารถไปประกอบอาชีพได้ โดยที่เราสามารถนำเอาจุดแข็งของคนไทย เช่น  ความมีอัธยาศัยดี ความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ การมีรอยยิ้ม มีจิตใจบริการไปใช้ได้

ในขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นส่วนหนึ่งก็เข้ามาพำนักในประเทศไทยทั้งในระยะยาวและสั้น และประเทศไทยเองก็มีแนวโน้มมีผู้สูงอายุมากขึ้นด้วย การเดินทางไปเรียนรู้งานด้านการบริหารจัดการ แล้วนำกลับมาขยายผล กำหนดทิศทางในการสร้างแรงงานฝีมือ ให้เป็นไปในทางเดียวกัน  ตลอดจนการกำหนดกฎหมายพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อรองรับกับปัญหาผู้สุงอายุที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย  สิ่งเหล่านี้ล้วนยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำพาประเทศไทยไปสู่การเป็น Hub หรือศูนย์กลางด้านการดูแลผู้สูงอายุของโลก

แนวคิดนี้  ผู้เขียนมองว่าเป็นไปได้อย่างมาก หากรัฐจัดระบบได้ดีมีประสิทธิภาพ  และคำนึงถึงความต่อเนื่อง ยั่งยืน ของการดำเนินนโยบาย

การใช้อุปกรณ์ในการขนย้ายผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้

(ภาพจาก :  http://business.nikkeibp.co.jp/atcl/report/16/082500064/082900002/)

อีกด้านหนึ่งคือ การพัฒนาธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงอายุ  ญี่ปุ่น นับได้ว่าเป็นประเทศหนึ่งที่เป็นเลิศในด้านการคิดค้นและพัฒนาธุรกิจต่างๆ อย่างไม่หยุดยั้ง  ไม่ว่าจะเป็นด้านการเทคโนโลยี อุตสาหกรรม ไลฟ์สไตล์  โภชนาการ เป็นต้น

ขอยกตัวอย่าง ด้านการบริการ เช่น  การนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยในการกิน ยืน เดิน นั่ง นอน  การประดิษฐ์อุปกรณ์ หรือเครื่องมือเพื่อช่วยในการตรวจวัดอาการป่วย วัดสุขภาพชองผู้สุงอายุ   ในด้านอุตสาหกรรม เช่น การสร้างบ้านและข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน หรือสถานที่พัก เช่น บ้านพักคนชราให้เหมาะกับผู้สูงวัย ในด้านไลฟ์สไตล์  ในด้านโภชนาการ  เช่น การคิดค้นหรือวิจัย อาหารที่เหมาะสำหรับผู้สูงวัย

จากข้อมูลด้านบนที่กล่าวมาแล้ว เราจะเห็นว่าผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่น ถือเป็นกลุ่มผุ้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่ควรจับตามอง  สำหรับภาคเอกชน หรือผู้ประกอบการไทยแล้ว น่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะเข้าไปเสาะแสวงหาตลาดใหม่ๆ กับผู้บริโภคกลุ่มนี้ 

หรือศึกษาตลาด ศึกษาแนวคิดในการผลิตสินค้าและบริการในญี่ปุ่น เพื่อนำมาคิดแผนปรับใช้ ทำการตลาดในประเทศต่อไป  ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า หากผุ้ประกอบการไทยสามารถสร้างความเชื่อมั่นในประเทศญี่ปุ่นได้แล้ว การเจาะตลาดในประเทศอื่นคงไม่ใช่เรื่องยากต่อไป

ความท้าทายในการรับมือกับ “สังคมผู้สูงอายุ” ที่กำลังจะเกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศนั้นเป็นเรื่องที่ยากจะหลีกเลี่ยง แต่สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนี้ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เราจะเห็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงต่างๆ หรือ ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมโลกให้เป็น “โอกาส” ในการพัฒนาประเทศ  ขุมชน หรือองค์กรของเรา ดังเช่น ปัญหาผู้สูงอายุ ที่กำลังเป็นประเด็นเร่งด่วนในญี่ปุ่นอยุ่ในขณะนี้

 ประเทศไทยเองก็ควรที่จะใช้โอกาสนี้เรียนรู้  ทำความเข้าใจ สร้างความคุ้นเคยให้มากขึ้น  และเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่กำลังจะเปลี่ยนไป  ก่อนที่จะสายเกินเยียวยา 

 

ขอบคุณภาพ Featured จาก: 60+ Product for Grand Generation from Thailand