ดิจิทัล เวนเจอร์ ติดปีกสตาร์ทอัพไทย

1411

คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่า กระแสเทคโนโลยีที่เคลื่อนเข้ามา จะมีเป้าหมายรุกรานโจมตีธุรกิจรูปแบบเดิมๆ เท่านั้น  สื่อที่คิดแบบเดิมๆ หรือสถาบันการเงินที่ก้าวไม่พ้นจากกรอบการบริการเดิมๆ

แต่ไม่ใช่เลย!  คนที่มีไอเดียความคิด สร้างธุรกิจใหม่ๆ บนแพลตฟอร์มดิจิทัล หรือที่เรียกว่า “สตาร์ทอัพ” ก็พบว่า  85% ของไอเดียธุรกิจใหม่ที่ถูกจุดประกายขึ้นมาจากคนกลุ่มนี้  ก็ไม่มีโอกาสต่อยอดสู่ความสำเร็จได้

เพราะหากคนกลุ่มนี้ไม่มีระบบนิเวศ หรือ Ecosystem ที่ดีพอ เงินทุนที่เข้ามาช้า ขาดผู้สนับสนุน หรือคอนเนคชั่นที่ดีในการสร้างธุรกิจให้เกิดขึ้น เพียงเวลา 6 เดือน ไอเดียธุรกิจนี้ก็จะถูกไอเดียใหม่ๆ ที่สร้างจากเทคโนโลยีใหม่กว่า  แซงหน้า ทิ้งให้สตาร์อัพที่เดินช้านี้ล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่

“โลกของสตาร์ทอัพเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก วงจรชีวิตสั้นลง ปีนี้เป็นเรื่องใหม่ แต่พ้นปีไปอาจหมดความน่าสนใจได้ทันที ไม่มีใครเป็นผู้นำได้นาน นอกจากผู้ที่รับมือกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีได้”  อรพงศ์ เทียนเงิน ประธานกรรมการบริหารบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าว 

ดิจิทัล เวนเจอร์ส เป็นบริษัทผู้ศึกษาและพัฒนานวัตกรรมทางการเงินในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ ตั้งขึ้นเมื่อปี 2559 ตามกลยุทธ์ในการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) ของทางธนาคารฯ  โดยเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมธนาคารผ่านการลงทุน การค้นคว้านวัตกรรม รวมถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้เติบโตร่วมไปกับธนาคาร มีเงินลงทุนใน Financial Technology เบื้องต้นจำนวน 1,760 ล้านบาทหรือประมาณ 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

             อรพงศ์ เทียนเงิน ประธานกรรมการบริหารบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด

   อรพงษ์กล่าวว่า ดิจิทัล เวนเจอร์ มีเป้าหมายในการส่งเสริม และสร้างสตาร์ทอัพให้เติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากเงินลงทุนที่จะหล่อเลี้ยงการทำงานให้เกิดขึ้นได้จริงแล้ว ยังมีโอกาสในการต่อยอดธุรกิจกับธนาคารไทยพาณิชย์ และลูกค้าองค์กรของธนาคาร อาทิ กลุ่มเรียลเอสเตท อย่างอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์, กลุ่มอุปกรณ์ก่อสร้าง SCG และกลุ่มพลังงานอย่าง  ปตท. เพื่อร่วมกันสร้างระบบนิเวศให้กับสตาร์ทอัพที่ดีที่สุด เสริมขีดความสามารถของสตาร์ทอัพไทยให้เติบโตทัดเทียมระดับสากลได้อย่างยั่งยืน

โดยโครงการสำคัญในการสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยของ ดิจิทัล เวนเจอร์ คือโครงการบ่มเพาะและส่งเสริมสตาร์ทอัพ Digital Ventures Accelerator ที่กำลังจะจัดขึ้นเป็นปีที่ 2  ซึ่งในครั้งแรก  Digital Ventures Accelerator Batch 0 (DVAb0) ในปีที่แล้ว ได้สร้างมิติใหม่ให้กับวงการสตาร์ทอัพของไทย  และสร้างความสำเร็จอย่างน่าพอใจ มีเงินลงทุนต่อเนื่องรวมกว่า 125 ล้านบาท  เกิดเป็นความสำเร็จในการร่วมมือทางธุรกิจระหว่างสตาร์ทอัพและพาร์ทเนอร์ 31 ราย และได้ทดลองความเป็นไปได้ของผลิตภัณฑ์ (Proof of Concept) ร่วมกับพาร์ทเนอร์ 17 ครั้ง นอกจากนี้สตาร์ทอัพฯ หลายทีมยังมีโอกาสร่วมงานกับลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อต่อยอดธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ OneStockHome สตาร์ทอัพที่สร้างแพลตฟอร์มการซื้อวัสดุก่อสร้างออนไลน์ ได้รับการต่อยอดธุรกิจร่วมกับเครือซีเมนต์ไทย และกำลังอยู่ในระหว่างการวางแผนงานร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ และ Seekster ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นหางานด้านการบริการสำหรับลูกค้าทั่วไปและ SMEs ได้รับการต่อยอดธุรกิจร่วมกับ อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ เป็นต้น

ในปีนี้  Digital Ventures Accelerator Batch 1 (DVAb1) ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 มีสตาร์ทอัพ 10 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกจาก 148 ทีม เข้าร่วมหลักสูตรเตรียมความพร้อมอย่างเข้มข้น   เพื่อก้าวสู่การเติบโตและความสำเร็จทางธุรกิจแบบก้าวกระโดด มุ่งเน้นการสร้างโอกาสในการต่อยอดธุรกิจกับธนาคารไทยพาณิชย์ และลูกค้าองค์กรของธนาคารฯ โดยทีมวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญที่แข็งแกร่งด้วยประสบการณ์จากทั้งไทยพาณิชย์ และพันธมิตรผู้นำในธุรกิจต่างๆ

ด้าน ชาล เจริญพันธ์  Head of Accelerator บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า โครงการ DVAb1 ได้คัดเลือกสตาร์ทอัพเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 10 ทีม ประกอบด้วยประเภทธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น และไม่จำกัดเฉพาะฟินเทค (FinTech) แต่ครอบคลุมทั้ง HealthTech,  EnergyTech,  PropTech ฯลฯ เพื่อเน้นการสร้างโอกาสในการต่อยอดอย่างรอบด้าน ไม่ใช่เฉพาะแต่กับธนาคาร แต่ยังเปิดกว้างสำหรับโอกาสทางธุรกิจร่วมกับลูกค้าองค์กรของธนาคารด้วย โดยโครงการ DVAb1 ได้รับการสนับสนุนจากหลายองค์กร ได้แก่ AddVentures by SCG, ExpresSo ในเครือปตท. และอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ที่ได้มาร่วมสร้าง Tech Community เพื่อส่งเสริมให้ระบบนิเวศสำหรับสตาร์ทอัพที่แข็งแกร่งให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

สตาร์ทอัพที่ผ่านเข้าร่วมโครงการ DVAb1 ทั้ง  10 ทีม ประกอบด้วย ChomCHOB  แพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนแต้มคะแนนบัตรต่างๆ ให้ใช้ได้เสมือนเงิน และกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ เช่น Dootv Media ระบบ video streaming เพื่อคอนเท้นท์ที่เต็มอรรถรส ENERGY RESPONSE แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการจัดการพลังงานในอาคารอย่างชาญฉลาด Event Banana แพลตฟอร์มการจัดการด้านพื้นที่และสถานที่จัดงาน Happenn ระบบงานอีเว้นที่ครบจบในที่เดียว JuiceInnov8 เทคโนโลยีลดน้ำตาลเพื่อน้ำผลไม้แห่งอนาคต Meticuly ชิ้นส่วนกระดูกทดแทนเพื่อความต้องการเฉพาะบุคคล MyCloudFulfillment ระบบจัดการโลจิสติกส์ ให้การซื้อขายเป็นเรื่องง่าย ไม่ต้องวุ่นวายเรื่องสต๊อค Ooca บริการปรึกษาจิตแพทย์ยุคใหม่ผ่านระบบวิดีโอคอล และ Sellorate แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับตัวแทนและนายหน้าขายอสังหาริมทรัพย์อิสระ

โดยหลักสูตร DVAb1 มีระยะเวลา  6 เดือน สำหรับช่วง 3 เดือนแรกเป็นการปูพื้นฐานสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมด้วยความรู้ที่จำเป็นสำหรับการดำเนินธุรกิจ ทั้งความรู้ด้านกฎหมายโดย Baker & McKenzie ความรู้ด้านการเงิน โดย PrimeStreet Advisory พร้อมด้วยความรู้ในการทำธุรกิจ Startup ส่วนช่วง 3 เดือนหลัง จะมุ่งให้สตาร์ทอัพสามารถเติบโตแบบก้าวกระโดดด้วยโปรแกรม Growth Hacking  นอกจากนี้ สตาร์ทอัพยังมีพันธมิตรผู้นำในธุรกิจ ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่เหมาะสมกับธุรกิจแต่ละทีมมาแชร์ประสบการณ์และให้คำปรึกษา ที่สำคัญคือ สตาร์ทอัพทุกทีมจะได้รับโอกาสปรึกษาเรื่องเงินลงทุน และความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีกับทีมผู้บริหารของ ดิจิทัล เวนเจอร์ส อย่างใกล้ชิด โดยมีเงินทุนแบบให้เปล่า 300,000 บาท ตั้งแต่เริ่มโครงการเพื่อให้เป็นเงินหมุนเวียนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในโครงการ  และเสนอเงินลงทุนขั้นต่ำ 1 ล้านบาท – 8.75 ล้านบาท  กับสตาร์ทอัพที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาหลังจบโครงการ

อรพงศ์ กล่าวว่า วันนี้ภารกิจในการค้นหาสตาร์ทอัพของธนาคารไทยพาณิชย์ไม่ได้มองเพียงแค่สตาร์ทอัพกลุ่มการเงินเท่านั้น แต่เปิดกว้างให้กับสตาร์ทอัพในทุกธุรกิจ  เพราะเป้าหมายสุดท้ายไม่ได้มองที่การจะสร้างสตาร์ทอัพให้เติบโต เพื่อเก็บกินส่วนแบ่งรายได้จากการทำธุรกิจของสตาร์ทอัพ แต่เป็นการร่วมกันสนับสนุนให้สตาร์ทอัพที่มีศักยภาพสามารถก้าวเดินและเติบโตไปอย่างมั่นคง ต่อยอดให้ธนาคารฯ ได้ทำงานร่วมกันพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ๆ คิดนวัตกรรมใหม่ๆ และส่วนสำคัญคือการสนับสนุนให้ประเทศไทยพัฒนาแข่งขันด้านนวัตกรรมกับประเทศอื่นได้

“เราสร้างสตาร์ทอัพให้เติบโต นำไปต่อยอดให้กับพันธมิตรทางธุรกิจต่างๆ ของไทยพาณิชย์ เช่นที่ อนันดา ฯ และเอสซีจี ได้รับมาแล้วจาก DVAb0 เมื่อธุรกิจของพันธมิตรเติบโต ไทยพาณิชย์ก็จะได้ประโยชน์ตามมา เพราะวันนี้บริษัทใหญ่ๆ เคลื่อนตัวช้า จำเป็นต้องใช้ไอเดียคนรุ่นใหม่เข้ามาขับเคลื่อนเพื่อให้ทันกับก้าวเดินของเทคโนโลยี  และสตาร์ทอัพก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุน และความช่วยเหลือเพื่อให้เติบโตเช่นกัน”