แฟชั่นเทคโอเวอร์สื่อทีวี ของเล่นเสี่ย หรือ เรื่องของธุรกิจ

1936

By Chai362

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้รับแบบรายงานการได้มา/จำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการ (แบบ 246-2) ซึ่งสรุปได้ ดังนี้

 รายงานการได้มา หุ้นของบมจ. เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)(listed)

โดย CHIT LOM LIMITED  ซึ่งเป็นการได้มา  เมื่อวันที่ 31/08/2560  จำนวนหลักทรัพย์ที่ได้มาคิดเป็น  9.6359% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ จำนวนหลักทรัพย์ภายหลังการได้มาคิดเป็น  9.6359% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ

 รายงานการจำหน่าย หุ้นของบมจ. เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)(listed)โดย DIGITAL SKY HOLDINGS LIMITED ซึ่งเป็นการจำหน่าย  เมื่อวันที่ 31/08/2560 จำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายคิดเป็น  -9.6359% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ”

 

เนื้อหาข่าวที่สื่อมวลชนหลายสำนักได้รับมาเกี่ยวกับการซื้อ-ขาย หุ้น บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) เจ้าของหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น, กรุงเทพธุรกิจ  ช่องทีวีดิจิทัลเนชั่นทีวี และนาว 26

ข่าวการขายหุ้นเนชั่น มัลติมีเดีย หรือ NMG มีมาตลอดปีสองปีมานี้ เพราะนับตั้งแต่บริษัทต้องใช้เงินก้อนโตเข้าประมูลช่องทีวีดิจิทัลมาได้ถึง 2 ช่อง ด้วยความมั่นใจว่า คอนเทนต์ข่าว สารคดี และบุคลากรที่ตนเองมีอยู่ สามารถสร้างความสำเร็จให้กับการลงทุนในทีวีดิจิทัลได้ แต่สถานการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น

เพราะไม่เพียงแต่ทีวีเนชั่นทีวี และนาว 26 เท่านั้นที่ตกอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่  ไม่สามารถสร้างเรตติ้งให้ขึ้นไปยืนอยู่บนแถวหน้าเตะตามีเดียเอเยนซี่ได้ สื่อสิ่งพิมพ์เอง ทั้งเดอะ เนชั่น และกรุงเทพธุรกิจ ก็เจอสึนามิของสื่อสิ่งพิมพ์ ที่จวนเจียนจะหมดแรงไปต่ออยู่รอมร่อ

กลางปีที่ผ่านมา ข่าวคราวการเข้ามาเทคโอเวอร์ช่องทีวีดิจิทัล นาว 26   จากกลุ่มบีทีเอส ของคีรี กาญจนพาสน์ เป็นประเด็นที่มีพูดถึงกันหนาหู  โดยถึงปัจจุบัน กลุ่มบีทีเอส ในนามของ  DIGITAL SKY HOLDINGS LIMITED ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในฮ่องกง ถือหุ้นอยู่น NMG แล้ว ราว 9.64% ดังกล่าว

จนกระทั่งล่าสุด สิ้นเดือนสิงหาคม ก็มีข่าว DIGITAL SKY HOLDINGS LIMITED  ขายหุ้นของ NMG ที่ถืออยู่ทั้งหมดให้กับ CHIT LOM LIMITED   ตามที่เป็นข่าว

ข่าวนี้นำมาซึ่งความสงสัยว่า  CHIT LOM LIMITED  นี่คือใคร เป็นของผู้ใด  โดยชื่อบริษัทก็พอจะบอกได้ว่า บริษัทนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับคนไทย แม้เปิดในสารบบบริษัทในเมืองไทย จะไม่มีบริษัทชื่อนี้ก็ตาม

และด้วยสงครามการนำเสนอข่าวของสื่อในวันนี้ ว่าด้วยเรื่องความเร็วบนโลกออนไลน์มากกว่า ความลึก ความถูกต้อง  ชื่อ CHIT LOM LIMITED  จึงถูกโยงเข้ากับกลุ่มเซ็นทรัล ด้วยการที่หนึ่งในตำนานของกลุ่มเซ็นทรัล คือ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ชิดลม เลยคิดไปว่า กลุ่มเซ็นทรัลน่าจะเป็นเจ้าของบริษัท CHIT LOM LIMITED  นี้ และพาดหัวกันโดยพร้อมเพรียงว่า กลุ่มเซ็นทรัลเข้ามาถือหุ้นในกลุ่มเนชั่น

เซ็นทรัล ชิดลม

ความจริงแล้ว ปัจจุบัน สุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัทกลุ่มเซ็นทรัล ถือหุ้นอยู่ในสื่อสิ่งพิมพ์กลุ่มบางกอกโพสต์ ในนามส่วนตัวไม่เกี่ยวกับกลุ่มเซ็นทรัล มาเป็นเวลานานพอสมควร จึงมีเหตุอันควรหากจะถูกนำมาโยงการซื้อหุ้นกลุ่มเนชั่น  ด้วยการมองเป็นแฟชั่นของตระกูลดัง ที่ถูกมองว่า พยายามสร้างอาณาจักรสื่อเป็นของตนเอง ทั้ง เจียรวนนท์, ปราสาททองโอสถ, หรือ สิริวัฒนภักดี ที่เพิ่งได้ร่วมเป็นเจ้าของ 2 ช่องทีวีดิจิทัล

แต่ก็มีคำถามว่า ถ้ามีบางกอกโพสต์แล้ว จะซื้อเนชั่นไปทำไม? เป็นคำถามที่ไม่มีสื่อสำนักไหนวิเคราะห์ออกมา

ย้อนกลับไปดูที่บริษัท CHIT LOM LIMITED  ที่เว็บไซต์ The Standard ระบุว่า จดทะเบียนในฮ่องกง โดยมี ลีโอ ชาน  ซึ่งก็ไม่รู้ว่าใคร เป็นผู้มีอำนาจในการติดต่อเพียงคนเดียว

หากจะมองความเกี่ยวพัน บนถนนชิดลม กรุงเทพฯ ไม่ได้มีเพียงห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ชิดลม ที่เป็นแลนด์มาร์คของพื้นที่เท่านั้น  แต่สูงขึ้นไปจากถนน ยังมีรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีชิดลม เป็นอีกแลนด์มาร์คสำคัญ

และถ้าดูคำภาษาอังกฤษของเซ็นทรัล ชิดลม กับสถานีบีทีเอส ชิดลม ก็พบว่า บนเว็บไซต์เซ็นทรัล ระบุ สาขาชิดลม เป็นภาษาอังกฤษว่า Chidlom   ขณะที่ สถานีบีทีเอส ชิดลม มีป้ายชื่อสถานีเป็นภาษาอังกฤษ ตั้งอยู่บนสถานีว่า Chit Lom ก็คงพอจะบอกได้ว่า บริษัท  CHIT LOM LIMITED  น่าจะเป็นของใคร

ท้ายที่สุด ก็น่าเป็นเรื่องของการโอนหุ้นจากกระเป๋าซ้าย ไปกระเป๋าขวาของกลุ่มบีทีเอส ด้วยเหตุผลทางธุรกิจ มากกว่าจะเป็นเรื่องแฟชั่นสะสมสื่อของกลุ่มจิราธิวัฒน์

เพราะหากมองโครงสร้างของกลุ่มบีทีเอส ในประเทศไทย นอกจากการให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสที่คนกรุงเทพฯ รู้จักกันดี ยังมีอีกหนึ่งธุรกิจหลักคือ เครือข่ายสื่อโฆษณา ที่มีบริษัท วีจีไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด(มหาชน) เป็นผู้ดูแล

วีจีไอฯ เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ดูแลสื่อโฆษณาบนรถไฟฟ้าบีทีเอสมาตั้งแต่แรกเริ่ม  โดยวางแนวทางการขยายธุรกิจด้วยการเทคโอเวอร์บริษัทสื่อนอกบ้านที่มีพื้นที่สื่ออยู่ในมือ  ทั้งบริษัท มาสเตอร์แอด หรือ Maco ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจป้ายโฆษณา และ แอร์โรว์มีเดีย เจ้าของพื้นที่สื่อในสนามบิน

ปัจจุบัน วีจีไอ จึงถือเป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดในวงการสื่อโฆษณา ที่มีสื่อโฆษณาบนบีทีเอส, บีอาร์ที  ในอาคารสำนักงานกว่า 350 อาคาร ป้ายโฆษณาและจอดิจิทัลทั่วประเทศกว่า 2,100 ป้าย ป้ายโฆษณาในปั๊ม ปตท.  1,300 ป้าย ป้ายในขนส่งหมอชิต  จอดิจิทัลในร้านอาหารทั่วประเทศ 300 จุด  จอดิจิทัลในสนามบิน 13 แห่งทั่วประเทศ ป้ายโฆษณาบนรถเข็นในสนามบินดอนเมือง  สุวรรณภูมิ  สื่อโฆษณาบนเครื่องบินไทยแอร์เอเชีย นกแอร์ ไทยไลออนแอร์ กว่า 70 ลำ

จึงไม่น่าแปลกใจหาก วีจีไอ จะได้สื่อบนหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ อย่างเนชั่น  หนังสือพิมพ์ธุรกิจ กรุงเทพธุรกิจ รวมไปถึงสื่อบนช่องเนชั่นทีวี และนาว 26  มาอยู่ในพอร์ทสื่อโฆษณาที่จะให้บริการลูกค้า

เป็นเรื่องของธุรกิจล้วนๆ 

 

แล้วช้างฮุบ GMM 25 เพื่ออะไร?

เช่นเดียวกับดิวก่อนหน้า ที่ ตระกูลสิริวัฒนภักดี ทุ่มเงิน 1,000 ล้านบาท  เข้ามาถือหุ้นในส่วนที่เพิ่มทุนจำนวน  50% ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จำกัด ที่มีธุรกิจอยู่ในมือ ทั้ง ช่องทีวีดิจิทัล GMM25, คลื่นวิทยุของเอไทม์ มีเดีย และธุรกิจท่องเที่ยวของ เอไทม์ ทราเวิลเลอร์

โดยการเข้ามาลงทุนในจีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง ของตระกูลสิริวัฒนภักดีนี้ ถือเป็นดิวการลงทุนในธุรกิจทีวีดิจิทัลครั้งที่ 2 หลังจากปลายปี 2559 ได้ใช้เงินลงทุน 850 ล้านบาท ซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด(มหาชน)   200 ล้านหุ้น ทำให้บริษัท วัฒนภักดี ของตระกูลสิริวัฒนภักดี ถือหุ้นรวม 47.62%  ในบริษัท อมรินทร์ฯ

กลายเป็นคำถามว่า ตระกูลสิริวัฒนภักดี หรือกลุ่มเบียร์ช้าง กำลังจะเข้ามาสู่สมรภูมิทีวีดิจิทัลเช่นนั้นหรือ?

ประเด็นความน่าสนใจในการลงทุนเพื่อสร้างรายได้ ในธุรกิจทีวีดิจิทัลที่เคยแย่งชิงการประมูลกัน จนทำให้รัฐได้เงินค่าประมูลช่องรายการ 24 ช่อง สูงถึง  48,888 ล้านบาทนั้น แต่เมื่อทุกสถานีลงสู่สนามจริง กลับไม่ได้มีสวรรค์รออยู่เหมือนที่คิด

สถานการณ์สื่อหากย้อนกลับไปสิ้นปี 2556 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่ทีวีในเมืองไทย ยังเป็นระบบอะนาล็อกเต็มตัว มีเพียง 4 สถานี คือ ช่อง 3, ททบ. 5, ช่อง 7 สี และโมเดิร์นไนน์ทีวี เท่านั้นที่ชิงเม็ดเงินโฆษณาสื่อทีวี ซึ่งมีมูลค่าตลอดทั้งปีสูงกว่า 6.9 หมื่นล้านบาท แต่มีอัตราการเติบโตจากปี 2555 เพียง 1% กว่าๆ เท่านั้น

ครั้นพอขึ้นปี 2557 สถานีโทรทัศน์เพิ่มขึ้นเป็น 24 ช่อง เพิ่มขึ้น 6 เท่าตัว แต่เม็ดเงินโฆษณาไม่มีทางเติบโตขึ้นตามแน่นอน ถึงสิ้นปี 2559 ที่ผ่านมา เม็ดเงินโฆษณารวมทีวีอะนาล็อก รวมกับทีวีดิจิทัล ก็ยังมีมูลค่าเพียง 6.7 หมื่นล้านบาท ลดต่ำลงกว่ายุคทีวีอะนาล็อกด้วยซ้ำ

และเมื่อดูสภาพเศรษฐกิจที่ซึมกันมายาวๆ จนเจ้าของแบรนด์เริ่มมองว่าการลงทุนสร้างแบรนด์เพียงอย่างเดียวไม่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน สื่อทีวีที่สร้างการรับรู้ในวงกว้างไม่ใช่คำตอบสุดท้าย สื่อออนไลน์ หรือกิจกรรมออนกราวด์ ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะสามารถสร้างยอดขายได้โดยตรง สะท้อนความตกต่ำของสื่อทีวีให้เห็นได้จากผลประกอบการของช่อง 3 ที่เคยอู้ฟู่สุดขีดในยุคอะนาล็อก ก็เริ่มซวนเซ รวมถึงการปิดตัวของช่อง LOCA และช่องไทยทีวี ของ เจ๊ติ๋ม พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย์

สถานการณ์เช่นนี้ และยังมีสัญญาณว่าดีขึ้นเมื่อไหร่ ก็น่าจะเป็นคำตอบว่า  การเข้ามาลงทุนของตระกูลสิริวัฒนภักดี ในทีวีดิจิทัล 2 ช่อง  คงไม่ใช่เป็นการขยายอาณาจักรธุรกิจเข้าสู่สมรภูมิทีวีดิจิทัลแน่นอน เพราะขนาด 2 ช่องที่เข้าไปลงทุน ทั้งกลุ่มอมรินทร์ และกลุ่ม GMM ที่เป็นเจ้าของคอนเทนต์มากมาย ยังแทบเอาตัวไม่รอด

แล้วตระกูลสิริวัฒนภักดีที่ดำเนินธุรกิจค้าขายมาโดยตลอด จะอาจหาญเข้ามาแข่งขันในตลาดทีวีดิจิทัล คงไม่ใช่เรื่องง่าย

เรื่องนี้ต้องถาม หมอเสริฐ-ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ !

ทันทีที่มีข่าวการลงทุนในกลุ่มอมรินทร์ ของตระกูลสิริวัฒนภักดี  ภาพของตระกูลมหาเศรษฐีในเมืองไทยที่เป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ทีวีดิจิทัล ถูกสื่อหลายสำนักฉายออกมาทันที

หมอเสริฐ ในฐานะเจ้าของช่องทีวีดิจิทัล PPTV HD36 , ตระกูลเจียรวนนท์ กลุ่มซีพี และกลุ่มทรู  เป็นเจ้าของช่อง TNN24 และช่อง True4You, ตระกูลโพธารามิก ในช่อง MONO  รวมไปถึง Voice TV ของตระกูลชินวัตร

คงเป็นความคิดที่ฝังหัวคนรุ่นเก่ามานานว่า การได้เป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์สักช่อง จะสามารถสร้างบารมี ใช้ในการสร้างอิทธิพลใดๆ เหมือนในอดีตหลายสิบปีก่อนที่รัฐบาลพยายามกีดกันไม่ให้ ป๊ะ- กำพล วัชรพล เจ้าของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ยักษ์ใหญ่ในวงการหนังสือพิมพ์ เป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ เพราะเกรงจะสร้างบารมีครอบคลุมสื่อเบ็ดเสร็จ  หรือทุกครั้งที่เกิดการรัฐประหาร ต้องมีการยึดสถานีโทรทัศน์เพื่อสร้างความได้เปรียบในการสื่อสาร

แต่ปัจจุบันสื่อทีวีไม่ได้มีอิทธิพลต่อผู้คนมากขนาดนั้นอีกต่อไป  ผู้คนใน Gen Y ที่เติบโตมาพร้อมๆ กับการเติบโตของอินเทอร์เน็ต กลุ่ม Gen Z  รวมไปถึงคนใน Gen C ที่มีชีวิตผูกพันกับโลกออนไลน์  แทบจะไม่ได้ดูรายการทีวี  เสาอากาศ จานดาวเทียม แทบจะหมดอนาคต ขณะที่กล่อง OTT ที่ดูรายการผ่านอินเทอร์เน็ตได้รับความนิยมมากขึ้น

เรื่องนี้ตระกูลสิริวัฒนภักดีที่ก็ทำธุรกิจอยู่กับคนรุ่นใหม่ในหลายๆ ตลาด ทั้งโออิชิ  เครื่องดื่มเอส หรือร้านอาหารญี่ปุ่น ก็น่าจะรู้ดีว่า อิทธิพลสื่อทีวีวันนี้มีมากน้อยกว่าในอดีตแค่ไหน จะมาใช้สื่อทีวีดิจิทัลฝังความคิดกับกลุ่มเป้าหมายของตน คงไม่ใช่วิธีคิดที่ถูกต้อง

แล้วย้อนกลับมาดูตระกูลดังที่เป็นเจ้าของช่องทีวีดิจิทัล อย่าง ตระกูลเจียรวนนท์ และโพธารามิก ก็ล้วนเป็นเรื่องของธุรกิจล้วนๆ เพราะ 2 ตระกูลถือเป็นผู้เล่นในตลาดโทรคมนาคม ฝ่ายหนึ่งมีทีวีบอกรับสมาชิก และมีบริการอินเทอร์เน็ต ขณะที่อีกฝ่ายก็เป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ที่ล้วนต้องใช้คอนเทนต์ ซื้อคอนเทนต์เข้ามาให้บริการ การขยายช่องทางในการบริหารคอนเทนต์ที่ซื้อมา ด้วยการออกอากาศฝ่านฟรีทีวีอย่างทีวีดิจิทัล หาโฆษณามาเป็นรายได้อีกทาง ก็เป็นเรื่องของธุรกิจล้วนๆ

ขณะที่ PPTV HD 36 ก็คงเป็นเรื่องความต้องการทำธุรกิจทีวีของหมอเสริฐ โดยเฉพาะ เพราะตลอด 4 ปีที่ออกอากาศมา PPTV ถือเป็นสถานีทีวีดิจิทัลที่ใช้งบประมาณในการซื้อคอนเทนต์ การผลิตคอนเทนต์สูงที่สุดสถานีหนึ่ง ตั้งแต่การซื้อตัวนักข่าว ผู้ประกาศข่าวมือดีจากหลายช่อง  การซื้อลิขสิทธิ์การแข่งขันฟุตบอลลีกดังจากยุโรป  จนถึงการฟอร์มทีมผลิตละครไทยด้วยงบประมาณมหาศาล  ตั้งใจที่จะผลิตช่องสถานีโทรทัศน์อย่างจริงจัง

แต่ผ่านมา 4 ปี ถึง วันนี้  เดือนนี้ PPTV HD 36 ก็ยังไม่มีทีท่าจะขยับเรตติ้งขึ้นมาอยู่ในระดับ Top5 ที่ว่ากันว่าจะเป็นกลุ่มที่สบายตัวในธุรกิจทีวีดิจิทัลได้เลย

ยิ่งเป็นคำตอบได้ว่าเสี่ยเจริญ คงไม่คิดลงทุนสถานีโทรทัศน์เพื่อสร้างบารมี หรือจะลงมาเล่นธุรกิจนี้อย่างเต็มตัวแน่นอน

แล้วเสี่ยเจริญ ลงทุนใน 2 ช่องทีวีดิจิทัล ที่ใช้งบรวมกัน สามารถซื้อสถานีง่อยๆ ของเจ๊ติ๋มได้สบายๆ  ไปทำไม ?

อาณาจักรทีทีซี กรุ๊ป มีธุรกิจหลากหลายส่วนที่ถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ของสื่อโฆษณา ตั้งแต่กลุ่มไทยเบฟเวอเรจ แบรนด์ช้าง, กลุ่ม F&N อาหารและเครื่องดื่ม,  กลุ่มเสริมสุข  น้ำอัดลม และน้ำดื่ม, กลุ่มโออิชิ  ชาเขียว และร้านอาหาร ทุกๆ ปีแบรนด์สินค้าเหล่านี้ใช้เงินซื้อสื่อโฆษณามากมาย

ในขณะที่แบรนด์น้ำอัดลม เอส หรือชาเขียวโออิชิ  รวมถึงเครื่องดื่มตราช้าง ในทุกๆ ปีก็มีการจ้างศิลปินนักร้อง นักแสดงมาเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับสินค้าของตน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นศิลปินจากสังกัด GMM ซึ่งเป็นค่ายเดียวที่ยังมีการบริหารศิลปินอยู่ในวันนี้ ขณะที่อาร์เอส แทบจะทิ้งธุรกิจนี้ไปแล้ว

แต่กลุ่มช้างก็ใช่จะเทคโอเวอร์ธุรกิจไปมั่วซั่ว เพราะหากดูโครงสร้างธุรกิจของกลุ่ม ทั้งเครื่องดื่ม อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค  ธุรกิจเกษตร   อสังหาริมทรัพย์  การเงินประกัน

กลุ่มสื่อทั้งอมรินทร์ทีวี และจีเอ็มเอ็ม 25  ก็จะมาเติมเต็มในการสื่อสารแบรนด์สินค้าเหล่านี้ เงินที่เคยซื้อสื่อ ซื้อสปอต ซื้อไทน์-อิน  จ้างผลิตรายการ  เคยจ้างพรีเซนเตอร์ จ้างศิลปินไปร่วมงาน ร่วมอีเวนท์  ก็เปลี่ยนเป็นทรัพย์สินของบริษัท ทั้งทีมงานที่มีโนว์ฮาว มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญ จากทั้งกลุ่มอมรินทร์ และจีเอ็มเอ็ม

มันดีกว่าจะไปซื้อช่องทีวีทำเอง  ลงไปแข่งในเวทีทีวีดิจิทัลให้เหนื่อย เพราะการทำธุรกิจวันนี้ ไม่มีการซื้อเพื่อเสริมบารมี หรือซื้อมาเล่นๆ แน่

นักธุรกิจระดับเศรษฐีของประเทศเหล่านี้ ทุกการลงทุน คือการต่อยอดธุรกิจ  สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงธุรกิจ ให้ความแข็งแกร่งยิ่งแข็งแกร่งขึ้น