เตือนโรงกลั่นน้ำมันถึงเวลาปรับตัว ราคาน้ำมัน – รถ EV พาองค์กรสู่วิกฤติ

1802

หากถามคนเจน X ที่เกิดมาในยุคอนาล็อคเต็มตัว คงไม่มีใครเชื่อว่า องค์การโทรศัพท์  ที่ร่ำรวยจากบทบาทผู้ดูแลการติดตั้งโทรศัพท์บ้าน จะต้องตกอยู่ในสภาพตกต่ำอย่างเช่นทุกวันนี้  เช่นเดียวกับคนในเจน Y หรือ เจน Z ก็คงไม่เชื่อว่า การไฟฟ้า ที่เป็นผู้ผูกขาดการจ่ายไฟฟ้าให้กับคนไทย จะมีข่าวว่าต้องเก็บภาษีเอกชนที่ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ ผลิตไฟฟ้าใช้เอง เพราะเทคโนโลยีได้ทำให้เราสามารถผลิตไฟฟ้าใช้กันได้เอง จนอีกไม่นานอาจทำให้เราไม่ต้องซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้ากันแล้ว

และใครจะเชื่อว่า วันนี้โรงกลั่นน้ำมัน ที่ครั้งหนึ่งมีภาพพจน์เหมือนกับเสือนอนกิน จากราคาน้ำมันที่สูงทะลุ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ควบคู่ไปกับความต้องการใช้น้ำมันที่สูงปรู๊ด ถึงวันนี้ ต้องอาจตกอยู่ในสภาพเสือจนตรอก

ราคาน้ำมันที่ไม่มีทางจะสูงได้เหมือนก่อน  ทำให้การทำกำไรลดน้อยลง คือปัญหาของวันนี้  ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันของผู้คนลดลง จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของการใช้พลังงานไฟฟ้าในรถยนต์  อย่าง รถ EV (Electric Vehicle)  สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่จะสนับสนุนการใช้รถยนต์ EV อย่าเต็มตัว  คือปัญหาในอนาคตอันใกล้ ที่โรงกลั่นน้ำมันไม่อาจหลีกหนีได้   แต่ก็สามารถปรับตัวเพื่อลดผลกระทบได้

อินทิรา เหล่ามีผล กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจ Resource Operating Group เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย เป็นบริษัทที่ปรึกษามืออาชีพชั้นนำระดับโลก เผยผลวิจัยออนไลน์จากเอคเซนเชอร์ ส่งไปยังลูกค้าในธุรกิจพลังงานกว่า 200 ราย ทั้งในระดับบริหาร, วิศวกร และหัวหน้าระดับปฏิบัติการ เกี่ยวกับการนำดิจิทัลมาช่วยพัฒนาธุรกิจ พบว่า ดิจิทัลจะไม่ใช่การลงทุนที่สำคัญในลำดับต้น ๆ ของผู้ประกอบการ แต่เกือบ 2 ใน 3 ของธุรกิจกลั่นน้ำมันก็มีแผนจะเพิ่มการลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัลภายในช่วง 3 – 5 ปีข้างหน้า

งานวิจัย The Accenture Connected Refinery ระบุว่า กลุ่มสำรวจ  57% เผยว่าการลงทุนด้านดิจิทัลโดยรวมของบริษัท มีมูลค่ามากกว่าหรือมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา แต่แม้แนวโน้มการลงทุนด้านดิจิทัลจะเพิ่มขึ้น แต่มีธุรกิจเพียง 19%  ที่จัดให้ดิจิทัลเป็นหนึ่งในเรื่องที่มีความสำคัญ 3 อันดับแรก สำหรับการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตในช่วง 3 ปีข้างหน้า

เมื่อสอบถามถึงประโยชน์ที่สำคัญที่สุดที่ได้จากเทคโนโลยีดิจิทัล ผู้ตอบส่วนใหญ่  63% ระบุว่า ทำให้การบริหารจัดการโรงงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้ตอบ 59% คิดว่าจะช่วยลดอัตราความเสี่ยงในการดำเนินงาน และ 54% คาดหวังว่าดิจิทัลจะทำให้การซ่อมบำรุงมีประสิทธิภาพและคาดการณ์ได้มากขึ้น

สำหรับการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานนั้น เป็นคำตอบติด 1 ใน 3 ที่ธุรกิจให้ความสำคัญมากที่สุด โดยเป็นปัจจัยที่จะผลักดันให้ธุรกิจโรงกลั่นลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัลต่อไป อย่างไรก็ตาม 50% หรือครึ่งของผู้ตอบเห็นว่าการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ก็ไม่ได้ช่วยลดค่าใช้จ่าย เพราะต้องมีการลงทุนเพิ่มอยู่ดี

อินทิรา เหล่ามีผล

กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจ Resource Operating Group เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย

อินทิรา  กล่าวว่าการลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัล หากทำได้อย่างเหมาะสม จะช่วยให้เกิดการประหยัดได้เกินจำนวนเงินที่ลงทุนไปเสียอีก แม้จะในระยะสั้น  แต่การที่ผู้ประกอบธุรกิจโรงกลั่นมีแผนที่จะใช้เงินลงทุนในดิจิทัลมากขึ้น แสดงว่าพวกเขาเล็งเห็นศักยภาพว่า เทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ ๆ จะมีประโยชน์ต่อการดำเนินงาน แม้ว่าจะกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการนำโซลูชั่นใหม่ ๆ มาใช้ แต่การใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้าและระบบอนาลิติกส์ มาช่วยทำให้ได้ข้อมูลอินไซต์ในการดำเนินงานแบบเรียลไทม์  จะช่วยให้โรงกลั่นมีประสิทธิภาพเหนือชั้นที่สุดในอุตสาหกรรมได้

“ในปัจจุบันประสิทธิภาพการประมวลผลมีราคาถูกลงกว่าเมื่อก่อนมาก ในขณะที่โซลูชั่นเกี่ยวกับอุปกรณ์เคลื่อนที่และ IoT โดดเด่นมากกว่า ผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันทั้งหลายจึงไม่เพียงแค่นำเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ ๆ เข้ามาใช้ แต่ยังต้องนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างครอบคลุม เมื่อนั้น ผู้ประกอบการจะได้เห็นต้นทุนการดำเนินงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และเห็นศักยภาพการเปลี่ยนผ่านไปสู่โครงสร้างพื้นฐานธุรกิจแบบใหม่ ที่เป็นจริงได้ด้วยเทคโนโลยีอันล้ำหน้าเหล่านี้”  อินทิรากล่าว

เมื่อถามถึงเทคโนโลยีดิจิทัลใดที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของระบบปฏิบัติการมากที่สุด กลุ่มสำรวจ 74% ระบุถึงระบบอนาลิติกส์,   41% มองความปลอดภัยทางไซเบอร์  และ 38% มองเทคโนโลยีโมบิลิตี้

การที่ความปลอดภัยทางไซเบอร์ติดกลุ่มท็อป 3 แสดงให้เห็นว่ากิจการต่าง ๆ กำลังมองหาสิ่งที่จะเข้ามาช่วยลดความเสี่ยงจากการโจมตีทางไซเบอร์ จากการที่ธุรกิจโรงกลั่นเชื่อมต่อกันมากขึ้น

“เมื่อจำนวนระบบและอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันมีมากขึ้น มีการแบ่งปันข้อมูลระหว่างฝ่ายที่เกี่ยวข้องในซัพพลายของอุตสาหกรรมพลังงานมากขึ้น ก็ยิ่งเสี่ยงที่การจู่โจมทางไซเบอร์จะมีขอบเขตกว้างขึ้น ผลกระทบแรงขึ้น ที่ผ่านมา ระบบการจัดการโรงกลั่นและการควบคุมต่าง ๆ เป็นระบบเฉพาะที่ มีการดูแลในพื้นที่ ค่อนข้างอิสระเมื่อเทียบกับระบบเอ็นเตอร์ไพร์ซที่ใช้กับทั้งองค์กร เมื่อมีโครงสร้างขั้นพื้นฐานไร้สายที่เชื่อมโยงผู้คนและเครื่องจักรต่าง ๆ มากขึ้น รวมทั้งแอพพลิเคชั่นระบบการบริหารการผลิตเปลี่ยนไปอยู่บนคลาวด์ ก็ต้องมีมาตรการด้านความปลอดภัยสำหรับเทคโนโลยีระบบปฏิบัติการต่าง ๆ ด้วย” อินทิรา กล่าว

อินทิรา กล่าวสรุปว่า ดิจิทัลให้ข้อมูลที่แม่นยำ ช่วยให้โรงกลั่นสามารถวางแผนการกลั่นน้ำมันได้ตรงกับความต้องการในขณะนั้น  ช่วยเรื่องการสต็อค ลดการสูญเสียเวลา ลดค่าใช้จ่าย ส่งผลไปถึงการลดต้นทุน ในภาวะที่กำไรจากราคาน้ำมันลดลงเช่นในปัจจุบัน

งานวิจัยยังได้ให้ข้อมูลว่า 21% ของกิจการน้ำมันระดับประเทศ มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในองค์กรอย่างสมบูรณ์  สูงกว่ากิจการน้ำมันระหว่างประเทศ ที่มีการใช้ดิจิทัลในองค์กรอย่างสมบูรณ์ 14.3%   และโรงกลั่นอิสระ มีการใช้ดิจิทัลอย่างสมบูรณ์เพียง 4.5%  โดยอินทิราให้ข้อมูลว่า เป็นเพราะนอกเหนือจากการช่วยลดต้นทุนในการผลิตแล้ว ยังเป็นการสะท้อนความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศอีกด้วย  ซึ่งเชื่อว่า ภายใน 1-2  ปีจากนี้ สัดส่วนการใช้ดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ขอกิจการน้ำมันระดับประเทศจะเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นสัดส่วนใหญ่ได้

แต่อินทิราก็ยังมองอนาคตของโรงกลั่นน้ำมันว่า อาจไม่มีความมั่นคงจากความแพร่หลายของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่มีความตื่นตัวมากขึ้นเรื่อยๆ  ก็ควรมีการปรับพอร์ตธุรกิจ หันมาสู่การผลิตพลังงานทางเลือกอื่นๆ เช่น โซล่าเซลล์ หรือแบตเตอรี่สำหรับรถไฟฟ้า

อินทิราย้ำว่า แม้วันนี้กระแสดิจิทัลจะเริ่มคุกคามไปในหลายธุรกิจ แต่สำหรับโรงกลั่น ที่มีโครงสร้างการทำธุรกิจส่วนใหญ่เป็นการค้าแบบธุรกิจต่อธุรกิจ หรือ B2B ต่างจากหลายธุรกิจที่โดนผลกระทบรวดเร็วอย่าง ธนาคาร หรือค้าปลีก เพราะมีรูปแบบธุรกิจหลักเป็น B2C ที่ต้องติดต่อกับผู้บริโภคโดยตรง  ทำให้ถือว่าวันนี้หากธุรกิจโรงกลั่นจะเริ่มปรับองค์กรเป็นดิจิทัล ก็ไม่ถือว่าช้าไป

แต่ก็เตือนว่า อย่าให้ช้าไปกว่านี้  เพราะเพียงแค่คิด แต่ไม่ลงมือทำ  1 ปีจากนี้ อาจเป็นคนตามที่อาจตามไม่ทัน