asap GO รถเช่าจ่ายเท่าที่ใช้ แนวคิด 4.0 บูรณาการธุรกิจรถเช่า

2555

เทคโนโลยีจากโลกออนไลน์ อาจทำให้หลายธุรกิจดั้งเดิมต้องล้มหายตายจาก เทปเพลง ซีดี หนังสือพิมพ์ นิตยสาร สาขาธนาคาร  แต่เทคโนโลยีออนไลน์เอง ก็สร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้ทุกวัน

เพราะของสำคัญคู่กายของผู้คนในวันนี้ ไม่ใช่กระเป๋าสตางค์ แต่กลายเป็นสมาร์ทโฟน ที่สามารถทำหน้าที่แทนทุกอย่างในกระเป๋า ตั้งแต่นาฬิกา สมุดนัดหมาย  กระเป๋าสตางค์ ไปจนถึงรีโมทรถยนต์ ที่ถูกเชื่อมต่อด้วย IoT (Internet of Things)

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ทุกวัน เราจะพบบริการแปลกใหม่มาให้บริการบนสมาร์ทโฟนของเรา อย่างประกันภัยที่สามารถเลือกเปิดหรือปิดความคุ้มครองได้ตามความต้องการด้วยสมาร์ทโฟน หรือการกดขอความช่วยเหลือจากแอพพลิเคชั่น ที่ทำให้ จส 100 สามารถแจ้งหน่วยงานไปให้ความช่วยเหลือเราได้ถึงที่โดยไม่ต้องแจ้งพิกัดที่เราอยู่

และวันนี้คนไทยกำลังจะได้ใช้บริการรถเช่า แบบ อยากขับ อยากคืนเมื่อไหร่ ก็คิดราคาตามที่ใช้งานจริง ไม่ต้องเหมาทั้งวัน ทั้งสัปดาห์อีกต่อไป

ทรงวิทย์ ฐิติปุญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซินเนอร์เจติค ออโต้ เพอร์ฟอร์มานซ์ จำกัด (มหาชน) ภายใต้แบรนด์ asap (เอแซ็ป) เผยว่า จากศักยภาพการดำเนินธุรกิจรถยนต์ให้เช่าของ asap ที่มีจำนวนรถยนต์ให้เช่ามากกว่า 10,000 คัน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าองค์กรที่มีความต้องการรถยนต์ให้เช่าระยะยาวมากกว่า 90% สามารถสร้างความมั่นคงด้านรายได้แล้ว บริษัทฯ ยังมีความต้องการเพิ่มฐานลูกค้าองค์กรใหม่ ๆ จึงวางแผนรุกขยายธุรกิจที่นำแนวคิด car sharing มาสู่การให้บริการรถยนต์ให้เช่าในประเทศไทย ด้วยการเปิดบริการ asap GO (เอแซ็ป โก) ที่คิดค่าบริการตามการใช้งานจริง (Pay per use) โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นองค์กรตามตึกออฟฟิศให้เช่าต่าง ๆ ซึ่ง asap เป็นผู้ประกอบธุรกิจรถยนต์ให้เช่ารายแรกในประเทศไทยที่ให้บริการในรูปแบบดังกล่าว เป็นการตอกย้ำถึงความเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรถยนต์ให้เช่าของไทย

“วันนี้เอแซ็ปมีลูกค้าองค์การที่ทำสัญญาเช่ารถระยะยาวอยู่ราว 500 ราย ปัญหาส่วนใหญ่ขององค์กรเหล่านี้ คือมีรถใช้ไม่เพียงพอในบางช่วงเวลา  การแก้ปัญหาคือต้องมาเช่ารถเพิ่มรายวัน หรือรายสัปดาห์ ทั้งที่ไม่ต้องใช้เต็มเวลาที่เช่า ขณะเดียวกัน ทางเอแซ็ปเอง ก็มีการสำรองรถเช่าไว้เสริมเวลาที่ลูกค้าต้องการ หรือเกิดอุบัติเหตุ ราว 200 คันที่จอดอยู่เฉยๆ ดังนั้น การจะนำทรัพย์สินเหล่านี้มีบริหารจัดการให้เกิดการใช้ประโยชน์ ก็ถือเป็นเทรนด์ที่ทุกองค์กรในวันนี้ต้องทำ”

ทรงวิทย์ ฐิติปุญญา

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซินเนอร์เจติค ออโต้ เพอร์ฟอร์มานซ์ จำกัด (มหาชน) 

                โดย asap GO เป็นแอพพลิเคชั่นที่เอแซ็ปร่วมพัฒนากับบริษัท ฮ้อปคาร์ จำกัดพันธมิตรผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อใช้บริการ asap GO Powered by haup  พนักงานขององค์กรที่ต้องการใช้บริการนั้นต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นและลงทะเบียนเพื่อใช้บริการ ซึ่งสามารถกำหนดช่วงเวลาการใช้รถยนต์ จุดเด่นคือสามารถเปิด-ปิดรถผ่านแอพพลิเคชั่นได้  มีบัตรเติมน้ำมัน กรณีน้ำมันหมด ที่ปั๊มเชลล์ และคาลเท็กซ์  ทั้งนี้ asap เริ่มให้บริการตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ตามตึกออฟฟิศประมาณ 6 แห่ง ได้แก่ อาคารคอลัมน์ทาวเวอร์ รัชดาภิเษก, อาคารอินเตอร์เชนจ์ อโศก-สุขุมวิท,  อาคารศุภลัยแกรนด์ ทาวเวอร์ ถนนพระราม 3, อาคารจัสมินอโศก อาคารเมโทรโพรลิส สุขุมวิท 39 และ 42 ทาวเวอร์ เอกมัย  โดยจะมีรถให้บริการอาคารละ 2-3 คัน หลังจากนั้นจะขยายการให้บริการครบ 30 อาคารภายในสิ้นปีนี้ และมีแผนจะขยายออกไปตามหัวเมืองใหญ่ต่อไป

ทั้งนี้รถยนต์ที่ให้บริการมีทั้งรถขนาดเล็ก Small Car  ประกอบด้วย โตโยต้า ยาริส และวิออส คิดค่าบริการเริ่มต้น 50 บาท และคิด 20 กม.แรก  5 บาทต่อกิโลโมตร จากนั้น เพิ่มอีกกิโลเมตรละ 1 บาททุกๆ 20 กิโลเมตรต่อไป   ขณะที่รถขนาดกลาง Medium Car ประกอบด้วย โตโยต้า อัลติส และนิสสัน จู๊ค  คิดค่าบริการเริ่มต้น 60 บาท คิดค่าบริการ 20กิโลเมตร แรก กิโลเมตรละ 6 บาท และเพิ่มขึ้นกิโลเมตรละ 1 บาท ทุกๆ 20 กิโลเมตรต่อไป  ขณะที่ช่วงเวลาจอดพักรถไม่มีการสตาร์ทเครื่อง ก็คิดในอัตราค่าบริการที่ถูกลง

ทรงวิทย์ คาดว่า ลูกค้าหลักของบริการ  asap GO จะมาจากลูกค้าที่ใช้บริการรถเช่ารายเดือนของเอแซ็ปเอง และอีกส่วนจะมาจากบริษัทต่างๆ ที่มีรถของ asap GO ไปจอดให้บริการอยู่  ซึ่งแม้จะมีรถจอดอยู่ 2-3 คันต่ออาคาร แต่บริษัทก็พร้อมจะนำรถเข้าเสริมให้เพียงพอหากมีผู้ใช้บริการมากกว่าจำนวนรถ  เชื่อว่าบริการที่สะดวกสบายเช่นนี้ จะได้รับความสนใจ สร้างรายได้ให้กับรถ asap GO   2 หมื่นบาทต่อคันต่อเดือน  และจะเป็นส่วนช่วยสร้างรายได้ให้บริษัทเติบโตได้ถึง 30% ในปีนี้ตามเป้าหมายได้

“การนำแนวคิด Car Sharing มาสู่การเปิดให้บริการ asap GO จะเป็นมิติใหม่แก่อุตสาหกรรมรถยนต์ให้เช่าของไทย ที่จะช่วยให้ลูกค้า asap ได้รับความสะดวกสบายและความประทับใจมากขึ้น โดยลูกค้าสามารถบริหารค่าใช้จ่ายการใช้บริการรถยนต์ให้เช่าได้อย่างคุ้มค่า ขณะที่ asap เองยังสามารถบริหารจัดการรถยนต์ในพอร์ตให้เกิดประโยชน์เพื่อสร้างรายได้สูงสุด อันนำไปสู่การดำเนินงานที่เติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้” ทรงวิทย์ กล่าว